กรมพัฒฯเผยจดทะเบียนการค้าครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น ผลจากแนวโน้มศก.ดี นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น

กรมพัฒฯ เผยจดทะเบียนการค้าครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น ผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจดี นักลงทุน ผู้ประกอบการเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะที่การจดทะเบียน มิถุนายน 60 เพิ่มขึ้น 6,525 ราย คิดเป็น 12%

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจัดตั้งใหม่ทั้งประเทศเดือนมิถุนายน 2560 พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 6,525 เพิ่มขึ้น 693 ราย คิดเป็น 12% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 5,823 ราย เพิ่มขึ้น 609 ราย คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 5,916 ราย ส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกมีจำนวน 1,548 ราย เพิ่มขึ้น 474 ราย คิดเป็น 44% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,074 ราย เพิ่มขึ้น 156 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,392 ราย

ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 610 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 354 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 198 ราย ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 168 ราย และธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 142 ราย ขณะที่มูลค่าทุนการจดทะเบียนตั้งใหม่เดือนมิถุนายน 2560 มีทั้งสิ้น 40,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,505 ล้านบาท คิดเป็น 30% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 31,411 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 23,114 ล้านบาท คิดเป็น 130% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 17,802 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนครึ่งปีแรกของปี 2560 นี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีการจดทะเบียนธุรกิจจำนวน 35,942 ราย เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีหลังที่ผ่านมา (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559 ) จำนวน 3,446 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2559 ) เพิ่มขึ้น จำนวน 4,150 ราย คิดเป็น 13% สำหรับการจดทะเบียนเลิกในครึ่งปีแรก 2560 (มกราคม-มิถุนายน) มีจำนวน 6,481 ราย ลดลง จำนวน 7,623 ราย คิดเป็น 54 % เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังที่ผ่านมา (กรกฎาคม – ธันวาคม 2559)

ส่วนการจดทะเบียนครึ่งปีแรกที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการบริโภคของภาคเอกชนที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ประกอบกับเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการซื้อในครัวเรือน ตลอดจนการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จากปัจจัยที่ประเทศไทยมีซัพพลายเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจด้านการลงทุน ส่วนคาดการณ์การจดทะเบียนทั้งปีก็ประเมินไว้อยู่ที่ 66,000 ราย น่าจะทำได้

นางสาวบรรจงจิตต์กล่าวอีกว่า สำหรับการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 144,647 คำขอ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนทั้งสิ้น 2,657,819 ล้านบาท โดยแบ่งประเภททรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ มีดังนี้ 1.สิทธิเรียกร้อง มูลค่าทั้งสิ้น 2,132,696 ล้านบาท คิดเป็น 80.24% แบ่งเป็น บัญชีเงินฝากธนาคาร มูลค่า 1,593,950 ล้านบาท คิดเป็น 59.97%
สิทธิการเช่า มูลค่า 83,717 ล้านบาท คิดเป็น 3.15% อื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า มูลค่า 455,029 ล้านบาท คิดเป็น 17.12%


2.สังหาริมทรัพย์ มูลค่าทั้งสิ้น 523,148 ล้านบาท คิดเป็น 19.69% แบ่งเป็นสินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ มูลค่า 277,894 ล้านบาท คิดเป็น 10.46% เครื่องจักร/รถยนต์/เรือ มูลค่า 245,254 ล้านบาท คิดเป็น 9.23% 3.ทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่าทั้งสิ้น 1,975 ล้านบาท คิดเป็น 0.07% กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกใบอนุญาตผู้บังคับหลักประกัน จำนวน 385 ราย