ประกันรายได้ยางเข้าครึ่งทาง จ่ายแล้ว 6 พันล้าน งวดถัดไปรับเงิน 29 ม.ค.นี้

ยางพารา

การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางยาง 3 งวดจ่ายกว่าหกพันล้านบาท เกษตรกรเตรียมรับเงินงวดต่อไปเข้าบัญชี 29 ม.ค. นี้ พร้อมเดินหน้ามาตรการดึงน้ำยางออกจากตลาด ผลักดันราคาให้มีเสถียรภาพ

วันที่ 26 มกราคม 2564 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)  เปิดเผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 เริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2563 มีเกษตรกรที่ได้รับเงินแล้ว จำนวน 1,156,813 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,985.13 ล้านบาท และในงวดที่ 3 ประจำเดือน ธันวาคม 2563 ครั้งนี้จะชดเชยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่ทำยางแผ่นดิบคุณภาพดีด้วย กำหนดราคากลางอ้างอิง ดังนี้

ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 57.85 บาท/กก. ชดเชย 2.15 บาท ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 48.78 บาท/กก. ชดเชย 8.22 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.19 บาท/กก. ชดเชย 3.01 บาท/กก. พร้อมโอนเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางได้ภายในวันที่ 29 มกราคมนี้ เป็นต้นไป โดยจะจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 1,561,354 ราย เป็นเงิน 2,362.69 ล้านบาท รวมจ่าย 3 งวด 6,347.819 ล้านบาท

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางสามารถกรีดยางได้มากขึ้นหลังจากฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเข้าสู่ช่วงปิดกรีดและผลผลิตจะลดลง ราคายางจึงมีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์ตลาด รวมถึงการชะลอการรับสินค้าของประเทศผู้ซื้อรายใหญ่

เช่น ประเทศจีนที่กำลังจะเข้าช่วงตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาวจะไม่รับสินค้าในช่วงดังกล่าว ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ตู้ขนส่งสินค้าตกค้างอยู่ในประเทศจนเกิดปัญหาการขาดตู้ขนส่งสินค้า ทำให้เป็นอุปสรรคในการส่งออกเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำยางของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศยังคงมีสูง ทั้งจากสถานการณ์ของโรคระบาด ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัวสูงขึ้น และการที่ประเทศจีนส่งเสริมการใช้รถยนต์ในเมืองชนบท จะส่งผลให้จากนี้ไปราคายางจะยังคงทรงตัวอยู่ในแนวนี้ไปอีกระยะหนึ่ง แต่จะขยับตัวขึ้นจากนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กยท. ได้ออกมาตรการกระตุ้นการดึงน้ำยางสดออกจากตลาดกว่า 200,000 ตัน/ปี ได้แก่มาตรการกระตุ้นการซื้อน้ำยางสดมาแปรรูป เดินหน้าโครงการการชะลอยาง เก็บสต๊อกยาง รวมถึงบทบาทของหน่วยธุรกิจของ กยท. ที่เร่งเดินหน้าหาผู้ซื้อต่างประเทศ ตอนนี้มีผู้ซื้อจากหลายประเทศสนใจสั่งซื้อยางแปรรูปของไทย โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่สนใจสั่งซื้อน้ำยางสดและน้ำยางข้น เพื่อนำเข้าไปผลิตเป็นถุงมือยาง ดังนั้น มาตรการทั้งหมดนี้ จะช่วยผลักดันให้ราคายางในตลาดสูงและมีเสถียรภาพขึ้น