ส่งออกข้าวไทยต่ำสุดรอบ 20 ปี แพ้เวียดนาม อินเดียแซงห่าง 7.9 ล้านตัน

FILE PHOTO: REUTERS/ Athit Perawongmetha

ปิดฉากการส่งออกข้าวไทยปี 2563 ทำได้เพียง 5.72 ล้านตัน ในเชิงปริมาณถือว่า “ต่ำที่สุด” ในรอบ 20 ปี ซึ่งปริมาณดังกล่าวไม่เพียงทำให้ไทยหลุดตำแหน่งจากอดีตเบอร์ 1 ไปเป็นเบอร์ 3 ผู้ส่งออกโลกรองจากอินเดีย ที่ส่งออกได้ 13.64 ล้านตัน และเวียดนามที่ส่งออกได้ 5.96 ล้านตัน

แต่สิ่งที่สำคัญได้สะท้อนให้เห็นว่า “ช่วงห่าง” ระหว่างไทย-อินเดีย-เวียดนาม เริ่มกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จากอดีตไทยและอินเดียเบียดกันหลัก “แสนตัน” แต่มาวันนี้ ห่างจากอินเดีย “7.9 ล้านตัน” แถมยังถูกเวียดนามแซงไปอีก

หากยังจำได้ที่ผ่านมา “วิกฤตอุตสาหกรรมข้าวไทย” ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในวงการส่งออกข้าว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่เวียดนามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนมีสายพันธุ์ใหม่ออกมาให้ตลาดโลก

ขณะที่ไทยนอกจากจะไม่มีข้าวพันธุ์ใหม่แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก ซ้ำในช่วงปลายปี 2563 ยังต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และมีการปรับขึ้นค่าระวางเรือซ้ำอีก

แนวโน้มปี 2564

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 คาดว่าจะทำได้ประมาณ 6 ล้านตัน โดยยังคงได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ และแนวโน้มผลผลิตข้าวของจีนน่าจะดีขึ้น จนมีโอกาสจีนจะส่งออกข้าวเก่าไปยังตลาดแอฟริกาแข่งขันกับไทย

เช่นเดียวกับ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมยังคงคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยปี 2564 จะมีปริมาณ 6 ล้านตัน จากเดิมที่มองไว้ 7-7.5 ล้านตัน

“แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้ราคาข้าวอินเดียถูกกว่าไทยกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน เช่น ข้าวขาวไทยตันละ 515 เหรียญสหรัฐ อินเดียตันละ 385 เหรียญสหรัฐ แต่จากปัญหาโควิดในอินเดียที่ยังมีความรุนแรงน่าจะกระทบต่อการขนส่ง จุดนี้อาจจะทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อจากไทย ซึ่งมีศักยภาพในการส่งมอบตรงเวลา

ลุยแผนเชิงรุก 3 ตลาด

พร้อมกันนี้ กรมเตรียมแผนผลักดันการส่งออกข้าวเชิงรุกใน 3 กลุ่มสำคัญ คือ

1.ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย เน้นตลาดส่งออกสำคัญ เช่น แคนาดา ฮ่องกง สหรัฐ ออสเตรเลีย จะส่งเสริมมาตรฐานข้าวมากกว่าแข่งขันด้านราคา

2.ข้าวขาว ข้าวนึ่ง เน้นตลาดส่งออกสำคัญ แอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดที่แข่งขันรุนแรงทางด้านราคา คู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย จีน แม้ราคาข้าวไทยยังสูง แต่จะประสานผู้นำเข้ารุกทำตลาดให้มาก

และ 3.ข้าวเหนียว ข้าวสีเน้นตลาดสำคัญ ฮ่องกง ยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งกำลังโต ไทยจำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพและปริมาณข้าวรองรับตลาด

โหมทำการตลาดออนไลน์

นอกจากนี้ กรมพร้อมนำแผนจากยุทธศาสตร์ข้าวมาดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 1 การส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่ม เช่น กข 79, กข 77, กข 59 และกข 87 ทั้งการวางมาตรฐาน การส่งเสริมการปลูก เป็นต้น การปรับปรุงกฎเกณฑ์การส่งออกเพื่อส่งเสริมธุรกิจส่งออกข้าว ทั้งเรื่องการลดค่าธรรมเนียมมาตรฐานการส่งออกข้าว โดยเฉพาะตลาดยูเค ซึ่งออกจากยุโรปแล้ว ซึ่งยุโรปเก็บค่าธรรมเนียม 2,500 บาทต่อตัน


พร้อมทั้งประสานไปยังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เร่งประชาสัมพันธ์ข้าวเชิงรุกในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ video conference เพื่อสร้างความมั่นใจมาตรฐานข้าวไทย โดยจะเริ่มจากฟิลิปปินส์ อิรัก บังกลาเทศ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซียตามลำดับ