ซีพีควบรวมเทสโก้ ลุ้นขั้นตอนปฏิบัติ บอร์ดแข่งขันเลื่อนนัดแจง 7 เงื่อนไข

บอร์ดแข่งขัน เลื่อนนัด CPALL – CPRD รับทราบ 7 เงื่อนไขควบรวมเทสโก้สัปดาห์หน้า ชี้เตรียมวางรูปแบบการติดตามการปฏิบัติหลังรวมธุรกิจรัดกุม พร้อมสุ่มตรวจหากไม่ปฏิบัติตามมีโทษตามกฎหมาย

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เลื่อนกำหนดการประชุมเพื่อแจ้งเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไปเป็นสัปดาห์หน้าจากเดิมกำหนดจะหารือวันนี้ (27 ม.ค.64) เนื่องจากยังมีประเด็นที่ต้องเตรียมพร้อมในรายละเอียดอีกส่วนหนึ่ง

“เราเชิญทางผู้ที่ยื่นคำร้องมารับทราบเงื่อนไข 7 ข้อ หลังจากที่บอร์ดพิจารณาให้ควบรวมและครบ 60 วันแล้วไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ก็นับว่าการควบรวมผ่านฉลุย แต่จากนี้จะเป็นขั้นตอนการติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการควบรวมว่าดำเนินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะต้องมาคุยกันกับผู้ควบรวมคือ CPALL และ CPRD บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาว่ารูปแบบการตรวจสอบติดตามการรายงานข้อมูลต่อกรรมการจะต้องทำอย่างไร และจะเอาข้อมูลจากไหน”

โดยยกตัวอย่างเช่น เงื่อนไข 1 ใน 7 ข้อระบุว่า บริษัทจะต้องเพิ่มสัดส่วนการซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอี 10% ซึ่งก็ต้องทราบก่อนว่า ปีนี้มีการซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีเท่าไร เอสเอ็มอีคือใคร มียอดขายเท่าไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการติดตามในปีต่อไป หรือเงื่อนไขการกำหนดระยะเวลาชำระเงิน (เครดิตเทอม) 30 วัน ต้องรู้ว่าตอนนี้ให้กี่วัน

หรือเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงสัญญาที่ทำไว้กับซัพพลายเออร์ เราต้องรู้ก่อนว่าปัจจุบันสัญญากับซัพพลายเออร์เป็นอย่างไร และหากในอนาคตมีการรายงานข้อมูลเข้ามาก็จะดำเนินการตรวจสอบไปกับซัพพลายเออร์ได้ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากเคสนี้เป็นเคสแรกตามกฏหมาย จึงยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติเรื่องการตรวจสอบติดตามการควบรวมธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การใช้รูปแบบอย่างไรในการติดตามก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กขค. เช่น อาจจะมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบติดตาม หรืออาจจะพิจารณาให้สำนักงานแข่งขันฯ ดำเนินการ ก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ที่มีกระแสข่าวว่าจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ ยื่นคัดค้านมติ กขค. นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มี หากหลังจากที่มีการรวมธุรกิจแล้ว มีกรณีเกิดมีผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่ตัวบริษัทที่ขอควบรวมยื่นอุทธรณ์ ก็อาจจะดำเนินการร้องศาลปกครองได้

สำหรับกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการรวธุรกิจจะมีโทษที่กำหนดตามกฎหมาย หากฝ่าฝืน กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ มีโทษปรับสูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ