ลุ้นวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจโลก ต่อลมหายใจโรงงานการ์เมนต์

วัคซีน

เครื่องนุ่งห่มปี 2564 รัดเข็มขัดพยุงตัว รอ “วัคซีนโควิด” ช่วยฟื้นคำสั่งซื้อทั่วโลก ดันยอดส่งออกปี’64 โต 5% พลิกกลับจากปี’63 ติดลบ 15%

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 คาดการณ์ว่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะขยายตัว 5% มีมูลค่า 65,000 ล้านบาท จากปี 2563 ที่ติดลบ 15% มีมูลค่า 90,000 ล้านบาท จากที่ประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐและยุโรป น่าจะเปิดประเทศได้ในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้การจับจ่ายดีขึ้น มีการนำเข้าสินค้ามากขึ้น

โดยปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องการฉีดวัคซีนของประชาชนซึ่งไม่เพียงเฉพาะทั่วโลก แต่รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยขณะนี้ทั่วโลกในหลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังถึงปลายปีจะเริ่มดีขึ้น เพราะธุรกิจน่าจะคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าทั่วโลกรวมถึงในไทยด้วย

คาดหวังให้ฉีดครอบคลุมคนไทย 65-70% จะช่วยให้ความเชื่อมั่น มีผลต่อการใช้จ่าย การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ตอนนี้จะรู้ว่าให้กลุ่มเสี่ยงก่อนแต่ก็ต้องการให้หน่วยงานออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งก็เป็นความคาดหวังของอุตสาหกรรมนี้ด้วยว่ารายได้จะกลับมา เพราะตลาดภายในประเทศ 170,000 ล้านบาท แต่จากโควิดทำให้กำลังซื้อหายไปกว่า 40%

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนทั่วโลกมาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องนุ่งห่มก็ต้องปรับตัว เพราะคำสั่งซื้อที่ลดลง ทำให้กำลังการผลิตของหลายโรงงานเหลือ 30% เท่านั้น

“แม้การส่งออกจะมองว่าเติบโตเป็นบวกเนื่องจากฐานปีที่ผ่านมาติดลบ แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมปีนี้ ผู้ส่งออกต้องพยุงตัวเพื่อยังคงธุรกิจไว้จากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง การนำเข้าน้อยลงจากกิจกรรมภายในของแต่ละประเทศยังไม่กลับมาเต็มที่

ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน จากสถาบันการเงินหรือมาตรการของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือจากปัญหาของโควิด-19 ก็ยังเข้าถึงยากจากเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนดไว้อย่างจำกัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง เนื่องจากบางเงื่อนไข เช่น ผู้ประกอบการรายนี้อยู่กลุ่มแดงมีความเสี่ยง ซึ่งต้องปรับตัวให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนพยุงธุรกิจให้รอด”

โดยหลายโรงงานปรับตัวลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจ โดยการลดระยะเวลาการทำงานลง ค่าล่วงเวลาน้อยลง แรงงานในอุตสาหกรรมคงที่ไม่ได้มีการรับเพิ่มจากแรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานต่างชาติ เมื่อลาออกไปแล้วหลายโรงงานจะยังไม่ได้รับคนเข้ามา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายรวมไปถึงป้องกันปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดโควิดด้วย ซึ่งปัจจุบันแรงงานในอุตสาหกรรมนี้หายออกไปจากระบบประมาณ 10% จากที่กำลังการผลิตลดลง

“สมาชิกลาออกประมาณ 60 โรงงานจากสมาชิกทั้งหมด 300 โรงงาน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายส่วนเกินแต่ยังคงประกอบธุรกิจอยู่ ส่วนการปิดกิจการก็มีอยู่บ้างแต่ก็มาจากหลายปัจจัย รวมถึงโควิด ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลิกกิจการไป แต่ก็ไม่มีการขยายการลงทุนใหม่ ไม่มีว่าจะปิดโรงงาน ขยายไปในต่างประเทศแต่อย่างไร”