สุพัฒนพงษ์ เร่งแก้สิทธิประโยชน์ ลดปัญหา EEC หวังดึงลงทุนเข้าเป้า 3 แสนล้าน

ที่ประชุม กบอ. รับทราบความคืบหน้าแผนสำคัญใน EEC “สุพัฒนพงษ์” เผยปี’63 ลงทุนแล้ว 210,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปี’64 แตะ 300,000 ล้านบาท โควิด-19 ไม่ส่งผลฉุดการลงทุน เดินหน้าทั้ง ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง เร่งอบรมพัฒนาคนอีกกว่า 91,000 คนรอการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในอนาคต พร้อมแก้สิทธิประโยชน์-ปัญหา หวังดึงการลงทุน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ในฐานะประธานที่ประชุมฯ ว่า กบอ. เห็นชอบ ให้เดินหน้าระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ช่วยเกษตรกรรายได้มั่นคง ผลไม้ไทยแข่งขันได้ทั่วโลก

ซึ่งได้ลงนาม MOU การจัดทำระบบห้องเย็นขนาด 4,000 ตัน กับ ปตท. และ การนิคมอุตสาหกรรมแล้ว โดยระบบห้องเย็น จะนำร่องด้วย ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ต่อยอดไปยังอาหารทะเล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด- 19 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม จึงต้องเร่งฝึกอบรมสร้างบุคลากร ตามแผนอีก 91,846 คน

ดังนั้นในระยะต่อไป EEC นอกจากจะเร่งการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศแล้ว ยังต้องทำนโยบายที่เน้นมุ่งเป้าเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงจากโควิดมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบ Demand driven (EEC model) ที่จะเป็นหนึ่งในกลไกเสริมมาตรการเยียวยาภาครัฐจากผลกระทบโควิด เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ ช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทยังคงการจ้างงาน ซึ่งได้ดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ อีกกว่า 12,220 คน ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2565 จะมีการจัดการพัฒนาทักษะบุคคลากร รวมทั้งสิ้นได้กว่า 91,846 คน

สำหรับภาพรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC

ปี 2563 (ม.ค.- ธ.ค 2563) ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าลงทุนสูงถึง 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ส่วนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในจาก 453 โครงการนั้น ได้อนุมัติคำขอแล้ว 292 โครงการ คิดเป็น 64% ออกบัตรส่งเสริมแล้ว 172 โครงการ คิดเป็น 59% และได้เริ่มโครงการแล้ว 79 โครงการ คิดเป็น 46%

“ปีนี้ตั้งเป้าการลงทุนไว้ที่ 300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากที่เราได้ปีที่แล้ว การดึงการลงทุนปีนี้เราจะเชิงรุกโดยเฉพาะกลุ่ม S-curve ใช้ทุกหน่วยงานทั้ง BOI EEC อะไรที่ติดเราจะแก้ทั้งสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นเพื่อการแข่งขันเพื่อการดึงดู หรือเรื่องการเดินทางเข้ามา เราจะคุยกันจะผลักดันนในเกณฑ์ที่รับได้ เพื่อรองรับทุนที่จะเคลื่อนย้ายมานังภูมิภาคนี้ และไทยคือพื้นที่หนึ่งของเป้าหมายการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการสร้างความเชื่อมั่น”

ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เร่งรัดส่งมอบ เปิดพื้นที่ก่อสร้าง เสร็จตามแผน
โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 2564

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบ การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบัง ซึ่งได้ลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือฯกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขา EEC) กล่าวว่า Dry Port จะเป็นการเชื่อมต่อระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย ให้เป็นโครงข่ายการขนส่งสินค้า เปิดประตูการค้าให้ สปป. ลาว ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และยังสนับสนุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยพัฒนาท่าเรือบกให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงขนส่งสินค้า จากประเทศจีน สปป.ลาว และประเทศไทย ขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังก้าวสู่ศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนโดยเฉพาะด้านระบบโลจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงกับนานาชาติ โดยความร่วมมือศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้