ชิง “Cage free” แสนล้าน “CPF-เบทาโกร” รุกตลาดไข่ไก่ไม่ขังกรง

ไม่น่าเชื่อเลยว่ามูลค่าตลาดไข่เคจฟรี (cage-free) หรือการผลิตไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง ในทั่วโลกปี 2563 จะสูงถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

และเป็นเทรนด์อาหารอนาคตที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศให้ความนิยมเทรนด์นี้อย่างมาก

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวอลิซซ่า เลน” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ โกลบอล ฟู้ด พาร์ตเนอส์หรือ GFP ที่ปรึกษาด้านอาหารจากประเทศสิงคโปร์

Q : ภาพรวมของ GFP เป็นอย่างไร

โกลบอลฟู้ดพาร์ตเนอส์ (GFP) เป็นบริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ เน้นในเรื่องของการทำสวัสดิภาพสัตว์และอาหาร

โดยทำงานร่วมกับกลุ่มเครือโรงแรม กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงผู้ผลิต ปีที่ผ่านมาได้ทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และผู้ผลิตอาหารในเอเชีย เรื่องการผลิตไข่เคจฟรี หรือไข่ที่ผลิตจากไก่ที่เลี้ยงอย่างอิสระ

โดยประกาศเปิดตัวอิมแพค อัลลายแอนซ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืนระดับโลก เมื่อปลายปี2563 ปัจจุบันสมาชิกของอิมแพค อัลลายแอนซ์ประกอบด้วยเท็กซ์ไทล์ เอกซ์เชนจ์

เครือข่ายสำหรับหนังและฝ้ายโกลบอลราวด์เทเบิล ฟอร์ ซัสเทนเอเบิล บีฟ เครือข่ายสำหรับเนื้อ โปรเทอร์รา สำหรับถั่วเหลืองและโกลบอล ฟู้ด พาร์ตเนอร์ส สำหรับไข่

และทาง GFP ได้นำเสนอเรื่องการใบรับรองอิมแพค อินเซนทีฟส์ สำหรับไข่เคจฟรี เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ ผลิตไข่เคจฟรีได้ โดยไม่กระทบกับห่วงโซ่อุปทานหรือสัญญาใด ๆ ในปัจจุบัน เนื่องจาก อิมแพค อินเซนทีฟส์ ได้รับการรับรองจากกลุ่มพิทักษ์สัตว์ระหว่างประเทศรายสำคัญ ๆ

Q : เหตุผลที่ต้องผลิตเคจฟรี

มีรายงานเรื่องไข่เคจฟรี-วิถีการตลาดโลก และการวิเคราะห์ บอกว่ามูลค่าตลาดสำหรับไข่เคจฟรีทั่วโลกปี 2563 มีมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยราว 180,000 ล้านบาท) จากปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นเงินไทยราว 144,000 ล้านบาท)

และคาดการณ์ว่าภายอีก 7 ปี หรือราวปี 2570 จะเติบโตในอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 3.2% ในช่วงปี 2562-2570 นำโดยประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตลาดในเอเชีย-แปซิฟิก คาดว่าจะสูงถึง 838.4 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2570

“ที่ต้องส่งเสริมเพราะมีความต้องการในธุรกิจโรงแรม ในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ต้องการผลักดันให้กลุ่มผู้ผลิตอาหารดำเนินนโยบายไข่เคจฟรีมากขึ้น ทาง GFP ร่วมมือกับผู้ผลิตไข่ เพื่อยกระดับฟาร์ม

สำหรับในประเทศไทย มีตัวอย่างฟาร์มหลายบริษัทที่เริ่มพัฒนาเลี้ยงไก่ไข่แบบเคจฟรี เช่น CPF มีโปรเจ็คที่ไปได้ดีเลยมีการเพิ่มกำลังการผลิตไข่แบบเคจฟรีด้วย ในส่วนของเบทาโกร เราไม่ได้มีความร่วมมือกับเบทาโกร

แต่เบทาโกรเองก็มีการผลิตไข่เคจฟรีถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญในเอเชียที่มีการผลิตไข่เคจฟรี ผู้ผลิตรายใหญ่ รวมถึงฟาร์มขนาดกลางและเล็กในไทยได้มีคำมั่นสัญญาว่าจะผลิตไข่เคจฟรี”

Q : ต้นทุนสูงกว่า โอกาสการทำตลาดดีกว่า

“แม้ว่าไข่เคจฟรีมีต้นทุนสูงขึ้น 30% แต่เหตุผลที่กลุ่มผู้ผลิตอาหารต้องซื้อ คือความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งได้เริ่มต้นจากที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีมาแล้ว และขยายมายังเอเชียในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคเองก็ถามหาไข่เคจฟรี และผู้ผลิตเองก็คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค”

อย่างไรก็ตาม การผลิตไข่เคจฟรีมีโอกาสทำตลาดได้มาก เพราะมีความต้องการมากขึ้น ยกตัวอย่าง บริษัทผู้ผลิตอาหารแบรนด์ใหญ่ ๆ เช่น เนสท์เล่ยูนิลีเวอร์ หรือเชนโรงแรมขนาดใหญ่อย่างไมเนอร์ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล หรือผู้ให้บริการอาหารขนาดใหญ่

เช่น ซับเวย์ มีการวางนโยบายส่งเสริมซัพพลายเออร์ว่ารับซื้อเฉพาะไข่เคจฟรีเท่านั้น ผู้ผลิตเห็นความต้องการในตลาดที่สูงมาก และต้องการรักษาฐานลูกค้าไว้จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ไปสู่การผลิตแบบไข่เคจฟรี

Q : ปริมาณการผลิตในปัจจุบันเป็นเท่าไร

“จริงอยู่ที่ตอนนี้อาจจะยังไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าเอเชียมีปริมาณการผลิตเท่าไร แต่มีรายชื่อผู้ผลิตในเอเชียอยู่หลายราย เช่น ซีพีฟู้ด เบทาโกร ผู้ผลิตในฟิลิปปินส์ มีผู้ผลิตหลายขนาด หรือในเกาหลีใต้ มีผู้ผลิตไข่เคจฟรี มีผู้ผลิตไข่ขนาดกลางด้วยแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วยังไม่ใช่การผลิตแบบเคจฟรี”

Q : กระบวนการรับรองมาตรฐานไข่เคจฟรี

“โกลบอล ฟู้ด พาร์ตเนอร์เองมีนักวิทยาศาสตร์ที่คอยให้คำปรึกษากับฟาร์มเลี้ยงไข่เคจฟรีมาหลายปีแล้ว เราได้ช่วยเกษตรกรเหล่านั้นให้เปลี่ยนผ่านจากระบบเดิม มาสู่การเลี้ยงไข่เคจฟรี ซึ่งฟาร์มต้องดูแลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์

รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย และการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ในฟาร์มเพื่อให้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตไข่เคจฟรี ซึ่ง GFP เราไม่ได้เป็นคนออกใบรับรอง แต่ในเมืองไทยจะมีผู้ออกมาตรฐานนี้

คือ Certified Humane ใบรับรองมาตรฐานสำหรับฟาร์มในไทย อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงสิงคโปร์ด้วย โดยสถาบันแห่งนี้เริ่มต้นที่อเมริกา ยุโรป และต่อมาขยายมาในเอเชีย”

Q : ประเทศที่ต้องการใบรับรองไข่เคจฟรี

“ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลข แต่การทำไข่เคจฟรียังมีจำนวนน้อย ซึ่งเรากำลังผลักดันให้มีการผลิตไข่เคจฟรีมากขึ้น ตามที่บอกคือผู้ผลิตอาหารต่างก็ออกนโยบายรับซื้อไข่เคจฟรี

ซึ่งแนวโน้มของอาหารในอนาคต สินค้าใหม่ เช่นplant-based meat กำลังเติบโต เช่นในสิงคโปร์ มีโปรตีนไก่จากพืช (plant-based chicken) ในจีน ก็กำลังมี plant-based เนื้อ, ไก่ หลาย ๆ ที่กำลังผลิตอาหารโปรตีนจากพืชมากขึ้น

เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้ธุรกิจนี้ต่างก็กำลังมุ่งไปสู่การผลิตไข่เคจฟรี

ซึ่งเป็นการผลิตที่มีเรื่องราวให้ผู้บริโภคสามารถย้อนกลับมาดูได้ว่าต้นตอการผลิตอาหารมาจากที่ไหน เป็นเรื่องความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์โควิด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ”

เรื่องนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ในอเมริกามีการแบนฟาร์มที่ไม่ใช่เคจฟรี ในยุโรปต้องเป็นไข่เคจฟรีเท่านั้น ในอินเดียได้มีการออกกฎใหม่สำหรับการสร้างฟาร์มใหม่ทั้งหมดต้องเป็นไข่เคจฟรีเท่านั้น สำหรับในไทยทางภาครัฐกำลังออกนโยบายด้านไข่เคจฟรี