สรท.ชี้ขนส่งทางอากาศไป อียู-สหรัฐ-ญี่ปุ่น ต้นทุนพุ่งกระทบส่งออก

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คงส่งออกทั้งปี 2564 ไทยอยู่ที่ 4% จากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ปัจจัยกระทบยังเป็นผลมาจากโควิด ตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวาง รวมไปถึงค่าขนส่งทางอากาศต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย เสนอรัฐสนับสนุนภาคการส่งออก หวังพยุงเศรษฐกิจให้โต

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงส์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง เห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ

อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง 2) ปัญหา International Logistics เช่น ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น

โดยในเส้นทางยุโรป เดือนธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160-220% ในขณะที่เส้นทางภายในเอเชีย เพิ่มขึ้น 17-100% ส่วนเส้นทางออสเตรเลีย ปรับเพิ่มขึ้น 112-197% และเส้นทางสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้น 73-196% ซึ่งจากผลของการปรับขึ้นค่าระวางเรือในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะ EU ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถยอมรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า ค่าระวางขนส่งทางอากาศยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในเส้นทาง EU US Japan เป็นต้น

รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว (QE) และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ และจีน เน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มการออกนโยบายที่ส่งเสริมให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Onshore/Re-shore)

อาทิ การประกาศใช้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ของประเทศจีน ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (2021-2025) และนโยบาย Buy American นโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เน้นการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐ และความล่าช้าในการเจรจา FTA อาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งที่สำคัญอย่างเวียดนาม ในตลาดสหภาพยุโรป ที่ได้มีการยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างกันแล้วกว่า 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด กระทบการขยายตัวภาคส่งออกต่อ GDP ของไทยในภาพรวม

อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะ คือ มาตรการเร่งด่วน ต้องการให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยเร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น

อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวรเพื่อให้นำเข้าตู้เปล่ามากขึ้น ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น มาตรการระยะยาว คือ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลดกำลังการผลิต และยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้


เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เช่น เร่งรัดและส่งเสริมการพัฒนาโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP), การพัฒนา National Single Window (NSW) ให้เป็น Single submission หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว, การพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เป็นต้น ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ เร่งรัดเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี