“คนละครึ่ง-เราชนะ-เรารักกัน” หนุนจีดีพีปี64 โต 3.4%

หอการค้าไทย ชี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ขณะที่มาตรการ เราชนะ เรารักกัน คนละครึ่ง ดันเศรษฐกิจเพิ่มได้ 1.7% คาดทำให้ภาพรวมจีดีพี 2564 โต 3.4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มกราคม 2564 พบว่า อยู่ที่ 47.8 จาก 50.1 ในเดือน ธันวาคม 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนักตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ในประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.8

“การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนมกราคม นี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤติโควิดในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง”

สำหรับปัจจัยลบที่กระทบ เช่น ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.5%, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น, ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง

ขณะที่ปัจจัยบวก เช่น สศค. ให้มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 63 ดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ -6.5% จากเดิมคาด -7.7%, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น, การส่งออกไทยในเดือนธ.ค.63 เพิ่มขึ้น 3.62% และนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐผ่อนคลายมากขึ้น

ทั้งนี้ หอการค้าไทย ยังคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายตลอดไตรมาส 1 ของปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส 2 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิดรอบใหม่ ให้สามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งโครงการ “เราชนะ”, “คนละครึ่ง” และ”เรารักกัน”

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลง หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะมีขึ้นในกลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการติดตามมาตรการของภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายหรือไม่

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า หอการค้าไทย ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 2.8% และรอติดตามมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่นำมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า เม็ดเงินจากโครงการ”เราชนะ” ที่ 2.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.2%

โครงการ “คนละครึ่ง” เม็ดเงิน 53,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% และโครงการ “เรารักกัน” 40,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งหากรวมมาตรการทั้งหมดแล้ว จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก 1.7% ขณะเดียวกัน คาดว่าการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ได้อีกราว 4-6 ล้านคน จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ จากทุกมาตรการหากเดินหน้าเต็มที่คาดทำให้ จีดีพี โต 3.4% แต่ต้องขึ้นกับปัจจัยการเมือง ค่าเงินบาท และการกระจายวัคซีนด้วยว่าเป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ ดังนั้น ขอรอดูสถานการณ์อีกที อาจจะมีการทบทวนใหม่ในมีนาคม 2564 นี้

ส่วนมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คาดว่าสามารถรักษาการจ้างงานในระบบไว้ได้ 6-9 แสนคน ช่วยให้มีแรงงานกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจค้าขาย ขนส่ง และกลุ่มอาหาร และเชื่อว่าอัตราการว่างงานจะไม่เกิน 2% และมีโอกาสกลับลงมาอยู่ที่ระดับ 1-1.5% ได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดหนี้สาธารณะลงได้ โดยคาดว่าปีนี้หนี้สาธารณะจะไม่ขึ้นไปแตะระดับ 90% ต่อ GDP และอาจจะอยู่ที่ระดับ 84-85% ต่อ GDP