เงินเฟ้อ ลดลง 0.34% หวังคนละครึ่ง-เรารักกัน-เราชนะ กระตุ้นเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
ROMEO GACAD / AFP

พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2564 ลดลง 0.34% โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาข้าวสารที่ลดลง ขณะที่เงินเฟ้อ 2564 คาดอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% พร้อมติดตามการคลายล็อกกิจกรรม การลงทุนภาครัฐในเดือนนี้ทำให้เงินเฟ้อดีขึ้น

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2563 เท่ากับ 99.79 ลดลง 0.34% เป็นการลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งลดลง 4.82% การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน และราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่อง ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ หากหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.21% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

ทั้งนี้ ปัญหาโควิด ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัฐที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการจับใช้จ่ายประชาชน แต่เชื่อว่าจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ คนละครึ่ง เรารักกัน เราชนะ การลงทุนจะส่งผลดีและกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นได้จนถึงหลังไตรมาส 1 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สนค. คาดแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีแนวโน้มหดตัว

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมุติฐาน อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4% น้ำมันดิบดูไบ อยู่ในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นางพิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลง 0.34% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน นั้นเป็นการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.83% จากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 1.86% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.4%

ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการ ส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.23% เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมสตรี หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.05% เช่น สุรา เบียร์ สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.58% ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ 1.34% เช่น เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม ผักสด สูงขึ้น 11.19% เช่น พริกสด หัวหอมแดง ผักบุ้ง ขณะที่ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 5.02% ผลไม้สด ลดลง 1.46% มีผลทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้น 0.09%

อย่างไรก็ดี สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 229 รายการ อาทิ พริกสด หัวหอมแดง ขิง ผักบุ้ง กล้าวน้ำว้า เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู น้ำมันพืช ข้าวราดแกง สินค้าปรับราคาลดลง 129 รายการ อาทิ แก๊ซโซฮอล์ 91 น้ำมันดีเซล B7 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ B10 ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวาน และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 72 รายการ

พร้อมกันนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้มีการปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งปกติแล้วจะมีการปรับทุก 4-5 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภค ปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558 ตามตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output)ล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ การปรับปีฐานของดัชนีทั้ง 2 ชุด มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึง การเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพต่อไป