น้ำเค็มหนุนสูงสุดในรอบ 10 ปี ประปาเค็ม-ส่อขาดน้ำทำนาปรัง

เขื่อนเจ้าพระยา
แฟ้มภาพ

ปัญหาภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้การผลิตน้ำของการประปานครหลวง กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีรสชาติเค็ม กระทั่ง กทม.ออกประกาศเตือนภัย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากกรมชลประทาน พบว่า ปัญหาภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันแทบทุกปี (พ.ค.-มิ.ย.) พบว่า ค่าความเค็มสูงสุดที่สถานีสูบน้ำสำแลเทียบกับค่าปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 ปีนี้สูงที่สุดในช่วง 10 ปีนับจาก 2553

โดยล่าสุด วันที่ 5 ก.พ. ค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร จากปี 2562 ที่มีค่าความเค็ม 2.19 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เกินเกณฑ์เฝ้าระวังปกติที่
0.25 กรัมต่อลิตร และสูงกว่าค่ามาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปา 0.50 กรัมต่อลิตร

เปิดปม 3 สาเหตุหลัก

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พบว่า ความเค็มเกินค่ามาตรฐานมาจาก 3 สาเหตุ

1) ปริมาณน้ำต้นทุนฤดูแล้ง ปี 2563/64 น้อย

2) ปริมาณการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ และ

3) อิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง และจาก storm surge บริเวณอ่าวไทย

กล่าวคือ วันที่ 2 ก.พ. 2564 ปริมาณน้ำใช้การได้เหลือประมาณ 4,295 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 24% ของความจุลดลงจากปีก่อนที่มี 34% และจากแผนจัดสรรน้ำใช้ในฤดูแล้ง ที่วางไว้ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 2,290 ล้าน ลบ.ม. เหลือใช้อีก 1,710 ล้าน ลบ.ม.

นาปรังเสี่ยงขาดน้ำ

ขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง มีปริมาณน้ำ 44,261 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 20,331 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% ส่วนปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ระหว่าง 1 พ.ย. 63-ปัจจุบัน ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 4,718.13 ล้าน ลบ.ม.และระบายจากอ่าง 5,880.91 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่สถานการณ์การปลูกข้าวนาปรังที่ปลูกไปแล้ว 4.26 ล้านไร่ จากแผน 1.90 ล้านไร่ ซึ่งเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันปลูกไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ

บริหารจัดการ คือทางออก

ล่าสุด นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งให้เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เพื่ออุปโภค-บริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรายชั่วโมงให้ระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็ม ให้ติดตั้งเครื่องวัดความเค็มแบบเรียลไทม์ 8 แห่งในแม่น้ำท่าจีน

มาตรการควบคุมความเค็ม

พร้อมบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำประปา และการรักษาระบบนิเวศ ทั้งยังขอให้ทุกภาคส่วนประหยัดน้ำ เพื่อให้เพียงพอใช้ไปถึงต้นฤดูฝนหน้า (ตามกราฟิก)