คิกออฟจ้างงานนักโทษ “สุริยะ-สมศักดิ์” ปั้นอาชีพ

สุริยะจับมือสมศักดิ์เปิดทางโรงงานจ้างนักโทษชั้นดี นำร่อง 50,000 คน หลังผุดนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์บ้านบึงเตรียมร่างหลักเกณฑ์คัดเลือก หวังสร้างอาชีพ ล่าสุด 3 บริษัทเอกชนตอบรับลงทุนทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เนื้อที่ 85 ไร่ ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง สังกัดเรือนจำกลางชลบุรี เพื่อนิคมนำร่องแห่งแรก โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะไปร่วมสนับสนุน ได้มีการจ้างแรงงานผู้ต้องขังไปแล้ว 400 คน จากเป้าหมายที่วางไว้ 50,000 คน และมีแผนศึกษาการตั้งนิคมราชทัณฑ์เฟส 2 ที่จังหวัดสมุทรสาคร

ทั้งนี้จะเริ่มฝึกทักษะอาชีพในอุตสาหกรรม อาทิ ประกอบชิ้นส่วนยาง เฟอร์นิเจอร์ งานโลหะ/งานเชื่อม และประกอบชิ้นส่วนโลหะเป็นผลิตภัณฑ์อาชีพฝีมือหัตถกรรม และเกษตรแปรรูป เป็นต้น รวมถึงการสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ

“ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) มีเป้าหมายพัฒนาผู้ต้องขัง และฝึกทักษะอาชีพ เพื่อให้มีความพร้อมได้รับโอกาสจากสังคมในการกลับเข้ามาทำงานได้อีกครั้ง และยังต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานภายในประเทศ ทดแทนแรงงานที่กำลังขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงจะพิจารณาแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเพื่อให้โรงงานสามารถรับแรงงานกลุ่มนี้เข้าทำงานได้”

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.จะเชิญชวนผู้ประกอบการมาลงทุน เพื่อให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพ ประสานกับสถานประกอบการหรือนิคมอุตสาหกรรมที่ยังมีพื้นที่เหลือหรือยังมีศักยภาพให้ใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกอาชีพ ขณะที่กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ คุณสมบัติ เพื่อคัดเลือกผู้ร่วมโครงการ เพื่อรองรับและส่งต่อระบบงานภาคนิคมอุตสาหกรรม ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย ระเบียบเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินโครงการร่วมกัน เช่น เกณฑ์การรับสมัครงานกับบุคคลที่เคยจำคุกมาก่อน

พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางเริ่มตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน เช่น การคัดกรอง/จำแนกบุคคล ความต้องการทำงาน ทักษะความชำนาญ การฝึกทักษะอาชีพ การยกระดับฝีมือแรงงาน รวมถึงทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งฝึกอาชีพแรงงานในสาขาที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังขาดแคลน หรือภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักโทษและจะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลน ซึ่งเอกชนคงกังวลเกี่ยวกับเกณฑ์การรับสมัครแรงงาน แต่ละบริษัทมีกฎระเบียบและกำหนดคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของเอกชนแต่ละแห่ง

รายงานระบุว่า โครงการจะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี เบื้องต้นมีบริษัทที่เตรียมลงทุนในนิคมแล้ว คือ บริษัท กาลศิริ พาณิชย์ จำกัด, บริษัท มายจักรยาน จำกัด และบริษัท เอสพีที เจริญซัพพลาย จำกัด ผลิตจักรยานและไม้พาลเลต ซึ่งจะเปิดโอกาสนักโทษชั้นดี และผู้พ้นโทษทำงานได้