ป่วน “น้ำมันปาล์ม” ขาดหนัก เกลี้ยงห้างจำกัดปริมาณซื้อ

น้ำมันปาล์มขาดตลาด ห้างค้าปลีกค้าส่งปรับแผนจำกัดปริมาณซื้อชี้สต๊อกหดเหลือ 1.4 แสนตัน ดันราคาผลปาล์มแตะ กก.ละ 7 บาท ต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบ 39 บาท/กก. แซงราคาตลาดโลก โรงกลั่นสุดอั้นต้องลดกำลังการผลิต ผู้ส่งออกแจ็กพอตสองต่อ ต้นทุนพุ่งแถมพาณิชย์ยกเลิกมาตรการช่วยค่าขนส่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลการสำรวจการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ หลังได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าสินค้าขาดตลาด พบว่าน้ำมันปาล์มขาดตลาดจริง และมีการจำกัดปริมาณการซื้อ เช่น ห้างแม็คโครใน จ.นนทบุรี น้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตร มีวางจำหน่ายเพียงยี่ห้อเดียว คือ โอลีน ขวดละ 49.33 บาท จำกัดปริมาณการซื้อรายละไม่เกิน 5 ลัง หรือแพ็กละ 3 ขวดไม่เกินรายละ 20 แพ็ก น้ำมันปาล์มแบบบรรจุแกลลอนรายละไม่เกิน 5 แกลลอน โดยมีป้ายแจ้งว่าน้ำมันปาล์มขาดสต๊อกชั่วคราว ขณะที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตแม็กซ์แวลู มีน้ำมันปาล์มขนาด 1 ลิตร เหลือเพียงยี่ห้อเพชร และผึ้ง ราคาเฉลี่ยขวดละ 44 บาท

ส่วนร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ที่จำหน่ายน้ำมันปาล์มขวด 1 ลิตร ราคา 42-44 บาท หลายร้านไม่มีน้ำมันปาล์มบนชั้นวางจำหน่าย ทั้งที่ปกติมีขายทั้งหยก มรกต ทับทิม เกสร และโอลีน เมื่อสอบถามทางพนักงานแจ้งว่าสินค้าขาดชั่วคราว เช่นเดียวกับเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ที่มีเพียง 2 ยี่ห้อ คือ หยก และเทสโก้ ราคาขวดละ 47 บาท ฯลฯ

หวั่นพลังงานถอยบี 10

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่ตลาดน้ำมันปาล์มเคลื่อนไหวผิดปกติ ปลายเดือน ม.ค. 2564 ราคาลง แต่ถึงเดือน ก.พ.ขยับขึ้น เป็นผลจากก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานประกาศว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายไม่ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี 10 แต่หันไปผลิตบี 3 แทน ทำให้ผู้ประกอบการปรับแผนหยุดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทันที ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับลดลง กก.ละ 1-2 บาท แต่ภายหลังได้ออกมาให้ความชัดเจนว่าจะยังคงผลิตน้ำมันไบโอดีเซลบี 10 ต่อเนื่อง แต่ให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด จากเดิมที่เคยสนับสนุนทำให้ราคาบี 10 ถูกกว่า ซึ่งเมื่อทราบข่าวดังกล่าวผู้ประกอบการจึงหวนกลับมาซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลให้ราคาล่าสุดขยับดีขึ้น โดยราคาผลปาล์มปรับขึ้นจาก กก.ละ 6 เป็น 7 บาท น้ำมันปาล์มดิบ จาก กก.ละ 37-38 เป็น 39 บาท ซึ่งเมื่อคิดเป็นราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเฉลี่ยขวดละ 46-48 บาท

“โดยปกติเดือน ม.ค.-ก.พ.ทุกปี ไม่ใช่ช่วงที่ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากนัก อย่างเดือน ม.ค. ปาล์มทะลายออกมา 6 แสนตัน จะออกมาก ๆ เดือน มี.ค. ปริมาณ 8 แสนตัน ช่วงนี้ถือเป็นปลายฤดู แต่ราคากลับลดลงจากเรื่องบี 10 ซึ่งตอนนี้เริ่มขยับขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการกลับมาซื้อแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าปริมาณผลผลิตปาล์มหรือน้ำมันปาล์มจะไม่เพียงพอใช้ เพราะปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าเรามีสต๊อกน้ำมัน CPO 1.4 แสนตัน และเดือนหน้าจะมีผลผลิตออกมาอีก 8 แสนตันผลปาล์ม บีบได้น้ำมัน 18% ซึ่งเพียงพอ”

 

CPO แพง โรงกลั่นผลิตไม่ไหว

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมโรงกลั่น เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคา CPO ไทย กก.ละ 39 บาท แพงกว่าตลาดส่งออกที่อยู่ที่ กก.ละ 25-27 บาท ประเด็นนี้กระทบต้นทุนทำให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดเดือดร้อน เพราะหากคิดราคาต้นทุนวัตถุดิบ 39 บาท บวกค่าผลิต ค่าขวด เฉลี่ย 3.50 บาท ค่าขนส่ง ภาษี VAT ต้องขาย 50 บาท/ขวดจึงจะคุ้มทุน แต่หากราคาขายพุ่งไปขนาดนั้นจะเข้าใกล้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองที่ขายอยู่ขวดละ 52 บาท จากเดิมน้ำมันปาล์มแค่ขวดละ 30 กว่าบาท เมื่อช่วงห่าง (แกป) ราคาใกล้น้ำมันถั่วเหลือง ผู้บริโภคจะเลือกซื้อน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งถูกมองว่าพรีเมี่ยมกว่า เมื่อแข่งขันต้นทุนไม่ได้ ผู้ผลิตแต่ละรายจึงลดกำลังการผลิตลง

เบรกมาตรการอุ้มส่งออก

“ส่วนผู้ส่งออกก็แข่งขันไม่ได้ เพราะใครจะซื้อน้ำมันปาล์มดิบ กก.ละ 39 บาท ถ้าส่งออกแข่งกับราคาในตลาดโลกที่ซื้อขาย กก.ละ 25-27 บาท ซึ่งราคาในตลาดโลกตอนนี้ถือว่าแพงสุดในรอบ 10 ปี ถามว่าเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศมาขายในไทยหรือไม่ ก็เสี่ยงแต่ตัวเลขลักลอบวัดไม่ได้”

ล่าสุด กรมการค้าภายในรับทราบปัญหานี้และประชุมหารือเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 มีมติให้ยกเลิกมาตรการช่วยเหลือการส่งออก จากเดิมที่เคยช่วยค่าขนส่ง กก.ละ 2 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย. 63 ซึ่งเป็นช่วงที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศล้น 538,523 ตัน ราคาลง จึงต้องการระบายส่งออกไปตลาดโลก แต่ตอนนี้สต๊อกน้อยเหลือแค่ 141,310 ตัน ไม่จำเป็นต้องช่วยส่งออกแล้ว เท่าที่ทราบมีการใช้สิทธิโครงการนี้ไป 44,000 ตัน หรือคิดเป็นเงิน 80 ล้านบาท น้อยกว่าวงเงินที่ต้องขอไว้ 600 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ต้นตอปัญหาที่แท้จริงเกิดจากโครงสร้างการผลิตปาล์ม ซึ่งหลังรัฐบาลสนับสนุนไบโอดีเซล มีเอกชนกระโดดมาเล่นในธุรกิจโรงสกัดมากขึ้นถึง 40 โรง ต้องแย่งซื้อผลปาล์มโดยให้ราคาแข่งแพง แต่เฉลี่ยแล้วหลายโรงงานใช้กำลังการผลิตเพียงแค่ 40% จากปกติควรใช้ 75% และเมื่อซื้อผลปาล์มแพก็ต้องไปแข่งกันขายให้กับโรงกลั่น ส่งผลให้โรงสกัดแย่ลง หลายโรงงานขาดทุนต้องหยุดผลิต แต่การป้องกันปัญหาทำได้ยาก เพราะลงทุนโรงงานไปแล้วด้วยต้นทุนสูง และไม่สามารถเปลี่ยนไลน์ไปผลิตสินค้าอื่นได้

เสี่ยงเสียตลาดส่งออก

นายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ กก.ละ 25-27 บาท ดีกว่าปีก่อน และสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ราคาไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก สถานการณ์แบบนี้จะทำให้มีน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในอนาคต ไทยจึงต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด สร้างสมดุลให้ทั้งซัพพลายเชนอยู่ได้

สำหรับภาพรวมการส่งออกปี 2564 คาดว่าจะส่งออก CPO ได้ 1.5 แสนตัน ใกล้เคียงปีก่อน แต่อาจมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตปาล์มที่จะออกจริงในเดือน มี.ค. ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าผลผลิตผลปาล์มปี 2564/2565 จะมีปริมาณ 16.5-16.6 ล้านตัน จากปีก่อน 15 ล้านตัน

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 สต๊อก CPO รวมเดือน ม.ค. มีปริมาณ 141,310 ตัน ลดลง 32.19% จากเดือน ธ.ค. 2563 ที่มี 208,396 ตัน แบ่งเป็นสต๊อกในส่วนของโรงสกัด 87,261 ตัน, โรงกลั่น 30,005 ตัน, คลัง 20,792 ตัน, ไบโอดีเซล 3,252 ตัน

ใต้ผลปาล์มทยอยออกราคาร่วง

ด้าน นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน และประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปาล์มน้ำมันปี 2563 ยอดการผลิตลดลงมาก เฉพาะในเครือข่าย คยปท.ทั่วประเทศ ผลผลิตปาล์มหายไป 30-40% เนื่องจากปี 2562 ถูกกระทบจากภัยแล้ง แต่ปี 2564 ผลผลิตน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะถูกฝนตกชุกและยาว โดยผลผลิตจะเริ่มออก ก.พ.-มี.ค. 2564

ส่วนราคาผลปาล์มปี 2563 ราคาดีตั้งแต่กลางปีถึงปลายปีอยู่ที่ 8 บาทกว่า/กก. เทียบกับราคาต่ำสุดเมื่อปี 2562 ที่ 2.20 บาท/กก. ปัจจุบันผลผลิตปีนี้เริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ 6 บาทกว่า/กก.

ปัจจัยสำคัญที่ราคาขึ้น เพราะรัฐบาลสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมว.พลังงาน มีนโยบายสนับสนุนให้ปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานทดแทนแปรรูปผลิตน้ำมันดีเซลบี 10 และบี 7 ประกอบกับนโยบายป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งข่าวจากร้านโชห่วย จ.พัทลุง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันที่ขยับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันพืชเคลื่อนไหวต่อเนื่องเช่นกัน ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาต่ำกว่า 400 บาท/ลัง ปรับขึ้นเป็น 400 บาท/ลัง และล่าสุดราคาพุ่งขึ้นเป็น 540 บาท/ลัง ไล่ตามทันน้ำมันพืชองุ่นที่ราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 540 บาท/ลัง