บอร์ดแข่งขัน จ่อคลอดไกด์ไลน์เครดิตเทอมช่วยเอสเอ็มอี

บอร์ดแข่งขันทางการค้า ไฟเขียวหลักการร่างแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า(Credit Term) ช่วยผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 12 มีนาคม 2564

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้าและโฆษกคณะกรรมการฝแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมฯ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)  ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) กำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม  30 – 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

กขค. จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาและวิเคราะห์จัดทำร่างแนวปฏิบัติทางการค้าในเรื่องดังกล่าว โดยสาระสำคัญร่างแนวปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย

1.ระยะเวลาในการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) ถ้าเป็นสินค้าทั่วไปต้องมีระยะเวลาการให้สินเชื่ออยู่ในช่วง 30 – 45 วัน และในภาคการค้า ภาคการผลิต และภาคบริการเฉพาะที่เกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีระยะเวลาการให้สินเชื่อน้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ กรณีที่คู่ค้ามีการตกลงระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่น้อยกว่า 30 วัน ก็ให้คงระยะเวลาดังกล่าวไว้ อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ประกอบการที่กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอมแตกต่างไปจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น จะต้องมีเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ในทางธุรกิจ การตลาด หรือเศรษฐศาสตร์

2.การนับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า ให้เริ่มนับตั้งแต่วันส่งมอบสินค้าหรือให้บริการตามจำนวน คุณภาพมาตรฐานของสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงกันไว้ และส่งมอบเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน

3.การชำระสินเชื่อการค้า จะต้องแสดงรายละเอียดชี้แจงกระบวนการขั้นตอนการจ่ายเงินที่ชัดเจนและผู้ประกอบการต้องแสดงหลักฐานยืนยันสถานะเป็น SMEs ให้ผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าทราบด้วย

4.พฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น

(1) การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่กำหนด (Credit Term) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(2) การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญา หรือระยะเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (3) การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสินเชื่อการค้า (Credit Term) โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน

(4) พฤติกรรมในลักษณะอื่นๆ อันเป็นการบังคับโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดซึ่งเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น กำหนดเงื่อนไขพิเศษ จำกัด หรือกีดกันการประกอบธุรกิจ

ของ SMEs จนเกิดความเสียหาย

นายสันติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากบอร์ดผ่านความเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยผ่านทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th รวมทั้งช่องทางของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาคมค้าปลีกไทย ฯลฯ

“หลังจากครบกำหนดแล้ว จะประมวลความคิดเห็นทั้งหมดมาปรับปรุงอีกครั้งก่อนประกาศบังคับใช้ ซึ่งเชื่อว่าแนวปฏิบัติทางการค้าเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) จะสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ชัดเจน ถูกต้อง เป็นธรรมและเป็นกลไกป้องกันความเหลี่อมล้ำจากอำนาจต่อรองจนนำไปสู่การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งจะมีผลให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่องทางการเงินอีกทางหนึ่งด้วย