กรมพัฒน์ฯ ผนึก 23 หน่วยงาน ดันแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

ภาวะการณ์เกษตรกรไทย
เกษตรกรไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลัง 23 หน่วยงาน เร่งผลักดันแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการร่วมขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และภาครัฐเอกชนอีก 23 หน่วยงานเพื่อรวบรวมข้อมูลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทศพล ทังสุบุตร

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทย เช่น สงครามการค้า โรคโควิด-19 เทคโนโลยีสมัยใหม่ และประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และประชากรจึงแต่งตั้งคณะทำงานการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อช่วยสนับสนุนและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และทำการตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเชื่อมโยงและสร้างโอกาสทางการค้าสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ และสินค้าเกษตรแปรรูป ช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนให้สามารถขยายช่องทางการตลาดสู่ออนไลน์ได้ สร้างความมั่งคงในเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นไปจนถึงประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

“การร่วมกันออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันเกษตรกรให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น ช่วยขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย”

อย่างไรก็ดี ยังช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าทางการค้า พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ เพิ่มรายได้ ให้คนในท้องถิ่น รวมทั้ง ช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดีจากมือเกษตรกรได้โดยตรง สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายไปสู่ออนไลน์ได้