เปิด 3 สาเหตุ น้ำเค็มหนุนสูงสุดรอบ 10 ปี นับจากปี 2553

เปิด 3 สาเหตุน้ำเค็ม
ภาพจาก Pixabay

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย 3 สาเหตุ ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเกินมาตรฐาน 

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนว่าหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำประปามีรสชาติกร่อย เนื่องจากสภาวะภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้มีน้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา แต่ยังใช้เพื่อการอุปโภคได้ตามปกติ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจากกรมชลประทาน พบว่า ปัญหาภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูงเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันแทบทุกปี (พ.ค.-มิ.ย.) พบว่า ค่าความเค็มสูงสุดที่สถานีสูบน้ำสำแล เทียบกับค่าปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 ปีนี้ สูงที่สุดในช่วง 10 ปี นับจาก 2553

ล่าสุด วันที่ 5 ก.พ. ค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร จากปี 2562 ที่มีค่าความเค็ม 2.19 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เกินเกณฑ์เฝ้าระวังปกติที่ 0.25 กรัมต่อลิตร และสูงกว่าค่ามาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปา 0.50 กรัมต่อลิตร

เปิดปม 3 สาเหตุหลัก

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พบว่า ความเค็มเกินค่ามาตรฐานมาจาก 3 สาเหตุ

1) ปริมาณน้ำต้นทุนฤดูแล้ง ปี 2563/64 น้อย

2) ปริมาณการใช้น้ำมากกว่าแผนที่กำหนดไว้

และ 3) อิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง และจาก storm surge บริเวณอ่าวไทย

กล่าวคือ วันที่ 2 ก.พ. 2564 ปริมาณน้ำใช้การได้เหลือประมาณ 4,295 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 24% ของความจุลดลงจากปีก่อนที่มี 34% และจากแผนจัดสรรน้ำใช้ในฤดูแล้ง ที่วางไว้ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 2,290 ล้าน ลบ.ม. เหลือใช้อีก 1,710 ล้าน ลบ.ม.