โควิดฉุดจับจ่ายตรุษจีนกร่อยสุดรอบ 13 ปี

Photo by MADAREE TOHLALA / AFP

หอการค้าไทย ชี้การใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปี 2564 นี้ลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ปี มูลค่าอยู่ที่ 44,939 ล้านบาท จากปัญหาโควิดกระทบรายได้ เศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการรัฐคาดช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายหลัง ก.พ. 64 เป็นต้นไป

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 นี้ การใช้จ่ายของประชาชนจากที่หอการค้าไทยได้สำราจผ่านทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย พบว่าอยู่ที่ 44,939 ล้านบาท ลดลงต่ำสุดครั้งแรกในรอบ 13 ปีจากที่สำรวจตั้งแต่ปี 2552 โดยลดลงมากถึง 12,000 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญมากจากเศรษฐกิจไม่ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้รายได้ลด

เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงซึมจากปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากนี้ และส่งผลให้ประชาชนกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังภาครัฐเริ่มอัดฉีดเงินเข้าระบบจากมาตรการ “เราชนะ” “เรารักกัน” แต่จากมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนได้ แต่จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังจากนี้

ธนวรรธน์ พลวิชัย

“มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไป 0.05-0.07% ซึ่งน้อยมากและไม่ได้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี สำหรับการอัดฉีดเงินจากมาตรการ “เราชนะ” “เรารักกัน” เข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และถ้ารัฐยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงกลางปีนี้ 4-6 ล้านคน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสโตได้ประมาณ 3% แต่อย่างไรก็ดี หากไม่ได้เป็นที่ประเมินจีดีพีไทยคาดจะโตที่ 2.5%”

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย และประธานที่ปรึกษาโครงการ Harbour Space@UTCC เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2564 จากประชาชน 1,215 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-3 ก.พ. 2564 พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้อยู่ที่ 44,939 ล้านบาท ลดลง 21.85% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 57,506 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2552

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์

ทั้งนี้ หากแบ่งการใช้จ่ายตามภูมิภาค พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 16,230 ล้านบาท ลดลง 24.50% ภาคกลาง อยู่ที่ 11,452 ล้านบาท ลดลง 21.40% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 7,269 ล้านบาท ลดลง 15.55% ภาคเหนือ อยู่ที่ 4,499 ล้านบาท ลดลง 17.21% และภาคใต้ อยู่ที่ 5,487 ล้านบาท ลดลง 25.80% และที่มาของเงินที่ใช้จากเงินเดือน 66.8% และครั้งแรกที่มาจากเงินช่วยเหลือจากภาครัฐถึง 1.8%

“การใช้จ่ายของประชาชนช่วงตรุษจีนที่ลดลง 42.2% ผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง รายได้น้อยลง การลดค่าใช้จ่าย การแพร่ระบาดของโควิด ส่วนอีก 33.2% การใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียง 24.6% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากปัจจัยราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้-โบนัสเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น”

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่าย ผู้ตอบ 66.8% ตอบมาจากเงินเดือน/รายได้ปกติ, 19.8% เงินออม, 10% โบนัส/รายได้พิเศษ, 1.6% เงินกู้ และอีก 1.8% เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐจากมาตรการต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งมากกว่าปี 63 ที่มีพียง 0.1% ดังนั้นการที่ภาครัฐมีมาตการช่วยเหลือ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในช่วงตรุษจีน

นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า รูปแบบการซื้อสินค้าสำหรับเซ่นไหว้ การใช้จ่ายรูปแบบใช้จ่ายผ่านเงินสด อยู่ที่ 63.3% ลดลงจากปีที่ผ่านใช้จ่ายผ่านเงินสดอยู่ที่ 84.6% โดยประชาชนหันไปใช้จ่ายผ่านการโอนเงินมากขึ้นอยู่ที่ 13.4% ผ่านบัตรเครดิต 23.3% ส่วนบรรยากาศในปีนี้คาดกว่าจะคึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 62.7% และสิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงในช่วงตรุษจีน คือ การแพร่ระบาดของโควิด ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น พรที่ต้องการ ขอให้มีความมั่นคงในอาชีพ ขอให้ร่ำรวย สุขภาพแข็งแรง