“โควิดระลอกใหม่” ถล่มแฟร์ บางกอกเจมส์ออนไลน์ 100%

อัญมณี

โควิดระลอกใหม่ ถล่มแฟร์ Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 66 ต้องเลื่อนจัด 3 เดือนไปเป็น พ.ค. พร้อมใช้รูปแบบออนไลน์ 100% “พาณิชย์” ลุ้นฟื้นจัดกึ่งออนไลน์ได้อีกครั้งในแฟร์รอบปลายปีนี้ เอกชนตบเท้าร่วมไม่ต่ำกว่าพันราย ดันยอดขาย 2,400 ล้านบาท ฟื้นส่งออกได้ปี’65

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ปรับเปลี่ยนการจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 66 จากวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2564 ไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2564

ทั้งยังปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์อย่างครบวงจร หรือ BGJF virtual trade fair ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ให้อยู่ในวงจำกัด แต่เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกถือเป็นสิ่งสำคัญ

“การจัด virtual trade fair นี้จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้ ให้ตอบโจทย์การค้าแบบ new normal ซึ่งจะเน้นการอำนวยความสะดวกให้ผู้แสดงสินค้าทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ให้สามารถพบปะเจรจาการค้ากับผู้ซื้อจากทั่วโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจในช่วงที่การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

อย่างไรก็ตาม การจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 67 ครั้งต่อไปซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2564 กรมยังคงวางแผนจัดงานแฟร์ในรูปแบบกึ่งออนไลน์ หรือ hybrid โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมออกบูท ณ อาคารชาลเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า เป้าหมายการจัดแฟร์ออนไลน์ครั้งนี้คาดว่าจะมีเอกชนเข้าร่วมแสดงในงาน 1,100 บริษัท หรือ 2,000 คูหา เพิ่มขึ้นจากการจัดงานที่ผ่านมา (ครั้งที่ 65) ซึ่งมีผู้ประกอบการ 994 ราย ขณะที่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานคาดว่าจะมีจำนวน 20,000 ราย จาก 130 ประเทศทั่วโลกจากครั้งที่ผ่านมาที่มีผู้สนใจเข้าร่วม 9,292 ราย

แบ่งเป็นผู้เข้าชมงานในประเทศ 4,438 ราย และจากต่างประเทศ 4,854 ราย โดยจะสามารถสร้างมูลค่าซื้อขายภายในงาน 2,400 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากครั้งที่ผ่านมาที่มีมูลค่า 1,200 ล้านบาท โดยภายหลังจากที่กรมได้ประชาสัมพันธ์ ก็มีผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมงาน อาทิ ฮ่องกง เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น ตุรกี อินเดีย โปแลนด์ อิสราเอล สิงคโปร์ โปรตุเกส อิตาลี เกาหลีใต้ ไต้หวัน เป็นต้น

“เป้าหมายการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 2564 คาดว่าขยายตัว 5% มูลค่า 5,110.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมทองคำ โดยสินค้าไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของฝีมือ พลอยสี ประกอบกับเศรษฐกิจเริ่มดี กำลังซื้อเริ่มเข้ามา แต่สิ่งที่ต้องจับตาที่มีผลกระทบต่อการส่งออก การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะพลอยดิบ ราคาวัตถุดิบผันผวน”

“โดยเฉพาะทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และเนื้อเงิน ข้อกฎหมายด้านภาษีและการส่งเสริมการลงทุนไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การส่งออกไปยังตลาดต่าง ๆ ล่าช้าหรือหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการ lock down ยังต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป”

ส่วนภาพรวมการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2563 มีมูลค่า 18,207.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น 75.67% และมูลค่าส่งออกรวมไปยังตลาดหลัก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ดีขึ้น (กราฟิก)

นายสุริยน ศรีอรทัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดงานบางกอกเจมส์ ครั้งที่ 66 ถือว่าเป็นการจัดงานรูปแบบออนไลน์ครั้งที่ 2

เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถเดินทางเข้ามาร่วมงานได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งการจัดงานในครั้งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเชื่อว่าครั้งนี้ก็เช่นกัน น่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 1,000 คน แม้จะไม่สามารถเทียบได้จากงานจัดแสดงสินค้าในรูปแบบปกติก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

“แม้ช่วงที่ผ่านมาจะมีผู้ประกอบการหายไปจากอุตสาหกรรมจากผลกระทบที่เกิดขึ้น กำลังการผลิตของผู้ผลิตลดลงถึง 40% ยังไม่สามารถบอกได้ว่าหายไปจำนวนเท่าไร แต่ทิศทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ปัญหาโควิดคลี่คลายบ้าง ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมา ทั้งสหรัฐ ยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น อีกทั้งการซื้อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวเพื่อรองรับตลาดที่เปลี่ยนไปด้วย โดยมองว่าภาพรวมการส่งออกกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับจะกลับมาโตได้เต็มรูปแบบได้ในปี 2565 โอกาสโตที่ 5-7% มีให้เห็นอย่างแน่นอน”