ไทยลงนามสัตยาบัน RCEP ชิงมูลค่าส่งออก 817 ล้านล้าน

Photo by STR / AFP) / China OUT

รัฐสภาไฟเขียวให้สัตยาบันความตกลง “RCEP” เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คลุมตลาด 2.2 พันล้านคน มูลค่าตลาด 817 ล้านล้านบาท ด้าน “ม.หอการค้า” ชี้ RCEP เปิดตลาดส่งออก 200,000 ล้าน ดันจีดีพีโต 3.4%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบสัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หลังจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ (อาเซียน+ออสเตรเลีย+นิวซีแลนด์+จีน+เกาหลีใต้+ญี่ปุ่น) ยกเว้นอินเดีย ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจฉบับนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 โดยการให้ความเห็นชอบความตกลง RCEP ครั้งนี้ถือเป็นความตกลงฉบับแรกในรอบ 3 ปีของประเทศไทย นับจากที่ได้เคยให้ความเห็นชอบต่อ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ไปเมื่อปี 2561

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบ กระทรวงพาณิชย์จะส่งเรื่องไปให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมออกหนังสือเพื่อให้ไทยนำไปยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียน แต่ประเทศไทยจะยื่นได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานในประเทศแจ้งความพร้อมในการดำเนินการตามพันธกรณีของ RCEP มาก่อน เช่น กรมศุลกากรออกประกาศลดภาษี-เลิกภาษีตามความตกลง RCEP, กรมการค้าต่างประเทศจัดทำแบบฟอร์มใบรับรองเพื่อลดภาษี RCEP เป็นต้น

“ข้อตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ได้อย่างเป็นทางการเมื่อกลุ่มประเทศอาเซียน +6 ให้สัตยาบันร่วมกับประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศรวมทั้งสิ้น 9 ประเทศ จาก 15 ประเทศสมาชิกก็จะถือว่าข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ (หลัง 60 วัน) อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี 2564 พร้อมกันนี้กรมจะเร่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA) เพิ่มเติมจากเดิมที่มีโครงการกองทุนเอฟทีเอของกรมการค้าต่างประเทศและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะคอยให้การช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบในการปรับตัวด้วย” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ครอบคลุมตลาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมจำนวนประชากรถึง 2,252 ล้านคน หรือคิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก และเป็นความตกลงที่ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจกลุ่ม RCEP รวมกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวม 10.4 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งข้อตกลงฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการลดภาษีสินค้าบริการของไทย 90-92% ของรายการสินค้าที่ค้าระหว่างกัน

โดยในปี 2563 ไทยมีการค้ากับประเทศ RCEP มูลค่า 261,825.60 ล้านเหรียญ หรือลดลง 8.72% แบ่งเป็นไทยส่งออก 128,911 ล้านเหรียญ หรือลดลง 8.17% นำเข้า 132,913 ล้านเหรียญ หรือลดลง 9.25% และไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 4,002 ล้านเหรียญ

ขณะที่นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การลงนามความตกลง RCEP เป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP เติบโตได้ 3.4% โดยภายหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ 3.3% มูลค่า 7,558 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 226,738 ล้านบาท จากการที่ไทยได้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

โดยสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้แก่ แป้ง, มันสำปะหลัง, ประมง, ผัก/ผลไม้, เนื้อสัตว์, อาหารแปรรูป, ยาง/ผลิตภัณฑ์ยาง, ชิ้นส่วนรถยนต์, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก, กระดาษ, การบริการ, ก่อสร้าง, ธุรกิจสุขภาพ และการค้าปลีก

“แต่ไทยต้องติดตามผลกระทบทางลบซึ่งอาจจะเกิดขึ้น ทั้งจากการที่ไทยจะมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากประเทศสมาชิก รวมถึงเกษตรกร อีกทั้งอาจจะมีข้อกำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ภายใต้ความตกลง RCEP เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ อาจจะทำให้นักลงทุนจากต่างชาติมีสิทธิเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และที่สำคัญ RCEP เอื้อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มากกว่าไทย การซื้อขายในรูปแบบอีคอมเมิร์ซจะขยายตัวมากขึ้น ในขณะที่ไทยยังไม่เข้มแข็งด้านอีคอมเมิร์ซ” นายอัทธ์กล่าว