จ่อฟ้องตุลาการเอาผิด คกก.วัตถุอันตราย ผลวิจัยสารตกค้างพาราควอตเชื่อถือไม่ได้

แบนพาราควอตเกือบครบปี เสียหาย 2 แสนล้าน “เครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เกษตรกร” จ่อฟ้องตุลาการ ศาลปกครอง เอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกชุด เหตุรัฐกระทำผิดขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 พร้อมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์สารตกค้างใหม่ทั้งในดิน-น้ำ และทำให้เนื้อเน่าจริงหรือไม่ หลังผลวิจัยชุดเก่าเชื่อถือไม่ได้

นายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แห่งประเทศไทย (NSCU) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2561 ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างมาก ทั้งทางรายได้ สังคม อาชีพ แรงงาน ส่งออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท

และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 2564 นี้จะครบกำหนดการครอบครองสารเคมีอันตรายดังกล่าวทั้งหมดแล้ว โดยผู้ใช้ ผู้จำหน่ายที่ครอบครองจะต้องส่งคืนเพื่อกำจัด แต่ขณะนี้มาตรการส่งคืน วิธีกำจัดทำลายยังไม่ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการร้านจำหน่าย ผู้นำเข้า จะต้องเสียค่ากำจัดทำลาย 100,000 บาท/ตัน โดยที่รัฐไม่ได้มีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเหลือ เป็นกันผลักดันภาระให้กับผู้ประกอบการ และถูกกดดันด้วยกฎหมายที่ผู้ใดครอบครองจะมีโทษหนัก

ดังนั้น จึงเตรียมรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบต่อภาคเกษตรกรจากการแบน 3 สารเคมี เพื่อที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตุลาการ ต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่ารัฐดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และการพิจารณาการแบนไม่สอดรับกับหลักสากล

ทั้งนี้การแบน 3 สารดังกล่าว โดยเฉพาะพาราควอตมีผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยผลผลิตลดลงเนื่องจากพืชประธานถูกแย่งสารอาหารและน้ำโดยวัชพืช ประมาณการพบว่าผลผลิตจะหายไปจากพืชเศรษฐกิจหลักจำนวน 97 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เกษตรกรที่จะหายไปกว่า 200,000 ล้านบาท และจะทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าสูญเสียไปอีก 41.46 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 250,000 ล้านบาท

ซึ่งยังไม่รวมกับการที่รัฐต้องเสียเงินอุดหนุนราคาพืชผลอีกนับไม่ถ้วน และการเสียโอกาสอื่น ๆ ของไทย และที่สุดเกษตรกรอาจต้องเลิกประกอบอาชีพ

ปัจจุบันการยกเลิกพาราควอตและจำกัดการใช้ไกลโฟเซต กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต แต่พบว่าต้องใช้ในปริมาณที่มากกว่า และราคาสูงกว่าส่งผลให้ต้นทุนเกษตกรเพิ่มขึ้นและยังเป็นสารตกค้างในดิน ขณะเดียวกันไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะส่งผลให้มีการนำเข้าพืช ผัก ผลไม้ เข้ามา

ซึ่งก็พบว่าไทยนำเข้าพืชผักเหล่านี้ ทั้งที่ยังใช้พาราควอตอยู่ทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จึงไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย และไม่สอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิแห่งความเสมอภาค โดยปัจจุบันมีการแบนพาราควอต 56 ประเทศ และยังใช้อยู่ถึง 81 ประเทศ และหลักสากลขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้ห้ามใช้แต่ยึดหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)

นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมฯ เตรียมระดมทุน ดึงเติร์ดปาตี้ที่น่าเชื่อถือ เช่น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาทำการวิเคราะห์ผลตกค้างของพาราควอตในดิน น้ำ ให้ชัดเจนกว่านี้ โดยเน้นวิจัยที่เป็นประเด็นทั้งสารตกค้าง โรคหนังเน่า ฯลฯ

เนื่องจากผลวิเคราะห์จากการวิจัยของคณะกรรมการชุดเก่าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงในหลักวิทยาศาสตร์ตามหลักการทำเกษตรได้ จึงจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ใหม่เพื่อนำไปแย้งผลเดิม ซึ่งจะใช้เวลาวิเคราะห์ประมาณ 1-2 สัปดาห์