เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ

พาราควอต

นับถอยหลัง 25 ก.พ. หมดเวลาครอบครอง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรโยน ผู้ค้า/ผู้นำเข้า เครียดเร่งส่งคืนจ่ายค่ากำจัดเองตันละ 100,000 บาท ด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่ อยู่ ๆ บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 ทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท ด้าน “BioThai” หนุนทำเกษตรอินทรีย์ต่อ

นายชัยภัฏ จันทร์วิไล ประธานเครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย (NSCU) กล่าวว่า ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันที่ครบกำหนด “ห้าม” มีสารเคมีอันตราย 2 ชนิด คือ พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครอง หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้สารดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

กล่าวคือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 แต่ที่ผ่านมาได้มีการ “ผ่อนผัน” ระยะเวลาการครอบครอง จนในที่สุดก็จะครบกำหนดการผ่อนผันในวันที่ 25 ก.พ.นี้ และคาดว่ารัฐบาลจะไม่มีการผ่อนผันให้ครอบครองต่อไปอีก

ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่วันนี้ ผู้ที่มีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไว้ในครอบครอง อาทิ เกษตรกร จะต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

ขณะที่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะต้องส่งสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน ส่วนมาตรการส่งคืนวิธีกำจัดทำลาย “ยังไม่ชัดเจน” และรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเหลือผู้ครอบครอง

จึงนับเป็นความกังวลอย่างมากสำหรับเกษตรกรที่จะไม่ใช่แค่การไม่มีสารเคมีทั้ง 2 ชนิดไว้ใช้ แต่ยังจะถูกลงโทษ ซึ่งร้ายแรงกว่าคดียาเสพติดเสียอีก ทั้งนี้ การแบนดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างมาก ทั้งทางรายได้ สังคม อาชีพ แรงงาน ส่งออก คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท แม้จะมีสารทดแทนคือ “กลูโฟซิเนต” แต่ราคาแพง และคุณภาพต่างกันมากกับสารเคมีอันตรายร้ายแรงตัวเดิมทั้ง 2 ประเภท

“จำนวนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอสที่เหลือตกค้างอยู่ตอนนี้เช็กยากมาก เพราะจะไม่มีใครบอกว่า ยังมีครอบครองไว้อยู่เท่าไหร่ แต่หากย้อนไปดูตัวเลขนำเข้าก่อนที่จะมีการแบนสารเคมีแต่ละปีก็จะมีการนำเข้าประมาณ 10,000 ตัน โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศแบนมาตั้งแต่ปี 2562 นั่นหมายถึงผู้นำเข้าไม่สามารถนำเข้ามาได้แล้ว”

“ดังนั้น ปริมาณสารเคมีที่ตกค้างอยู่ต้องใช้ให้หมด เพราะเท่ากับไม่มีของใหม่มาเติม ดังนั้นตอนนี้คงเหลืออีกไม่มากนัก แต่ปัญหาคือสารเคมีที่เหลือจะส่งคืนไปกำจัดอย่างไร ใครจะคืนเงินและใครจะแบกภาระการกำจัด โดยที่รัฐไม่เข้ามาช่วยอะไรเลย ซึ่งรัฐเองควรมีมาตรการที่รอบคอบกว่านี้ก่อนที่จะสั่งแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” นายชัยภัฏกล่าว

ล่าสุดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ ทางเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย, สมาคมวิทยาการวัชพืช และเกษตรกร ได้เตรียมรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและผลกระทบต่อภาคเกษตรกรจากการแบน 3 สารเคมีคือ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส และการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เพื่อที่จะยื่นฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง

โดยเห็นว่ารัฐบาลดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 73 กล่าวคือ รัฐแบนพาราควอต แต่กลับให้นำเข้าพืช ผักจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตอยู่ ดังนั้นจึงไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย และไม่สอดรับกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ว่าด้วยสิทธิแห่งความเสมอภาค

ทั้งนี้ การแบน 3 สารดังกล่าวทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง เนื่องจากพืชประธานถูกแย่งสารอาหารและน้ำโดยวัชพืช ประมาณการพบว่า ผลผลิตจะหายไปจากพืชเศรษฐกิจหลักจำนวน 97 ล้านตัน หรือคิดเป็นรายได้เกษตรกรที่จะหายไปกว่า 200,000 ล้านบาท และจะทำให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าสูญเสียไปอีก 41.46 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 250,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับการที่รัฐต้องเสียเงินอุดหนุนราคาพืชผลอีกนับไม่ถ้วน และการเสียโอกาสอื่น ๆ ของไทย และที่สุดเกษตรกรอาจต้องเลิกประกอบอาชีพ

ด้านนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมเตรียมระดมทุนของบฯจากหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และดึงเติร์ดปาตี้อย่างมหาวิทยาลัย นักวิชาการ เข้ามาทำการวิเคราะห์ผลตกค้างของ “พาราควอต” ในดิน-น้ำ “ให้ชัดเจนกว่านี้”

เน้นวิจัยที่เป็นประเด็นทั้งสารตกค้าง โรคหนังเน่า เนื่องจากผลวิเคราะห์จากการวิจัยของคณะกรรมการชุดเก่าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงในหลักวิทยาศาสตร์ตามหลักการทำเกษตรกรรมได้ จึงจำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ใหม่เพื่อนำไปแย้งผลเดิม ซึ่งจะใช้เวลาวิเคราะห์ประมาณ 1-2 สัปดาห์

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ “แบนและไม่สามารถแก้ไขได้” ส่วนสารทดแทนนั้นทางเลือกแรกคือ ขอให้รัฐบาลส่งเสริมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรแทน โดยนำงบประมาณ-งบฯฟื้นฟูที่ยังคั่งค้างอยู่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เคยเสนอไว้ ซึ่งอาจใช้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ด้วยการนำงบฯจำนวนนี้มาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

“ผมยังคงยืนยันว่า สารทดแทนที่ดีที่สุดคือเทคโนโลยีใช้เครื่องจักรกลทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืช เช่น เครื่องตัดหญ้าหรือปลูกพืชคลุมดินเพื่อชิงที่อยู่ของวัชพืช ส่วนสถานการณ์จากการสำรวจภาพรวมหลังจากแบนสารพบว่า เกษตรกรที่ใช้สารเคมีลดลงจริง โดยเฉพาะพาราควอต” นายวิฑูรย์กล่าว