เอกชนหนุนตู้แช่วัคซีน 77 จังหวัด “สุริยะ” จี้ สมอ.เร่งวางมาตรฐานผลิตภัณฑ์

ตู้แช่วัคซีน

“สุริยะ” สั่ง สมอ.เร่งทำมาตรฐานหนุนคุณภาพตู้แช่วัคซีนโควิด-19 หลังกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมจับมือกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ส.อ.ท.ไฟเขียวผลิตตามสเป็กกรมควบคุมโรค พร้อมส่ง 77 ตู้ ให้ 77 โรงพยาบาลทั่วประเทศช่วยชาติลอตแรกก่อนวัคซีนเข้าไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า เนื่องจากอีกไม่นานวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะถูกนำเข้ามาเพื่อฉีดให้กับคนไทยทั่วประเทศ ขณะนี้ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้เริ่มพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตตู้แช่วัคซีนเองไม่ต้องนำเข้า เพื่อรองรับดีมานด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สนับสนุนการผลิตดังกล่าว โดยเตรียมหารือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ถึงการทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ตู้แช่วัคซีนว่าควรกำหนด มอก.ขึ้นมารองรับหรือไม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ได้เริ่มทำตู้แช่วัคซีนโควิด-19 แล้ว ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้เข้ามาแนะนำให้ เนื่องด้วยเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ จึงต้องมีการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ยังต้องช่วยกันดู

เบื้องต้นผู้ประกอบการรายใหญ่ 3-4 ราย อาทิ โตชิบา เป็นหนึ่งในเอกชนที่ลงทุนเอง เพื่อเตรียมผลิตตู้แช่วัคซีนโควิด-19 และยังมีลักษณะการจับมือร่วมกันพัฒนาในรูปแบบกิจการค้าร่วม (consortium) อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถผลิตเองได้จึงมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตตู้เย็นขายในประเทศและส่งออกอยู่แล้ว เพียงปรับปรุงด้านเทคนิคเล็กน้อย

นายอุดม เสถียรภาพงษ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศได้หารือกันมานานกว่า 1 เดือน เพื่อที่จะร่วมกันผลิตตู้แช่วัคซีนโควิด-19

โดยก่อนหน้านี้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ได้เข้ามาร่วมกำหนดสเป็กของตู้แช่ให้ตรงกับความต้องการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยลอตแรกจะเป็นการสนับสนุนจากผู้ผลิตตู้แช่วัคซีน 7 รายของไทยในรูปแบบของการบริจาคให้จังหวัดละ 1 ตู้ รวมทั้งหมด 77 ตู้ ครอบคลุม 77 จังหวัด

ซึ่งตู้แช่วัคซีนดังกล่าวจะมีขนาดความจุ 300-400 ลิตร โดยทางกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้กำหนดชี้เป้าว่าตู้แช่วัคซีนดังกล่าวจะไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลใด เพื่อเป็นศูนย์รวมให้จังหวัดนั้น ๆ สามารถเข้าไปใช้ได้ ขณะนี้ได้รับบริจาคแล้ว 21 ตู้ ขาดอีก 56 ตู้ โดยคาดว่าจะมีเอกชนอีกหลายรายพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

“ทั้ง 77 ตู้เป็นการให้ฟรีจากเอกชน 7 รายเพื่อช่วยชาติ ซึ่งเขาขายเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว เขาจะบริจาคให้ทุกจังหวัดไปตั้งในจุดที่เป็นเซ็นเตอร์ของจังหวัด ส่วนบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้เคยหารือไว้ว่าจะต่อยอดจากตู้เย็นแล้วผลิตเป็นตู้แช่วัคซีนนั้น น่าจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี เพราะต้องมีการลงทุนเพิ่ม ลงทุนไลน์การผลิตต้องมีดีมานด์ที่มากพอ”

ขณะที่นายวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ส.อ.ท.กล่าวว่า ตู้แช่วัคซีนปัจจุบันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในอุปกรณ์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยมีมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกจะต้องได้รับการรับรอง เมื่อได้มาตรฐานสากลนี้แล้วจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมี มอก. แต่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับตู้เย็นเพื่อเเช่วัคซีนนั้น ความสำคัญคือ ต้องรักษาอุณหภูมิได้คงที่ตลอดปี ต้องเก็บความเย็นได้อย่างน้อย 3 ชั่วโมงหากเกิดไฟฟ้าดับ มีความจุอย่างน้อย 18 คิว เพื่อสต๊อกวัคซีนไว้อย่างน้อย 1.5-2 เดือน เป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ส.อ.ท.มีจำนวนประมาณ 180 บริษัท โดยรายใหญ่ที่ผลิตตู้เย็นและมีแนวโน้มว่า จะสามารถผลิตตู้แช่วัคซีนได้ อาทิ โตชิบา ชาร์ป มิตซูบิชิ ฮิตาชิ ไฮเออร์ พานาโซนิค เป็นต้น