ฮาราลด์ ลิงค์ นำทัพ บี.กริม เพาเวอร์ ปักธงรายได้ 150,000 ล้าน

สัมภาษณ์พิเศษ

ผ่านมาไม่ถึง 2 เดือน หลัง “ฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม หวนกลับมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ บริษัทลูกในธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม บี.กริมแทน “ปรียนาถ สุนทรวาทะ” ที่ปรับเปลี่ยนบทบาทไปเป็นรองประธานกรรมการ บี.กริม เพาเวอร์ จัดเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มบี.กริมซึ่งมีมาร์เก็ตแคปมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท จากภาพรวมของทั้งกลุ่ม 60,000 ล้านบาท พร้อม ๆ กับเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจของกลุ่มทหารอีกครั้งในเมียนมา

ซึ่งเป็น 1 ในประเทศที่บี.กริมเข้าไปลงทุนใน “บิ๊กโปรเจ็กต์” ไม่ว่าจะเป็น “โครงการเมืองอัจฉริยะอมตะย่างกุ้ง” หรือ Yangon Amata Smart & Eco City (YASEC) ที่ร่วมกับ กลุ่มอมตะ-ปตท. ที่พร้อมจะลงทุนในเฟสแรกพื้นที่ 500 ไร่ จากทั้งโครงการ 5,000 ไร่ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากรัฐบาลพลเรือนมาเป็นการปกครองโดยทหาร

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ฮาราลด์ ลิงค์” ถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมียนมา กับการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่เป้าหมายรายได้ 150,000 ล้านบาท ในโอกาสปีที่ 150 ของบี.กริม ที่จะมาถึงในปี 2571

โครงการในเมียนมา

เราเป็นพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนกับ กลุ่มอมตะ มายาวนาน 25 ปี ที่ผ่านมามีการลงทุนทั้งในไทย-เวียดนาม อมตะ ได้ให้โอกาสกับ บี.กริม โดยที่เรามีแผนที่จะร่วมกันทำโครงการที่เมียนมาพร้อมกับ ปตท. นั่นก็คือ โครงการย่างกุ้ง อมตะ (YASEC)

แต่พอดีมาเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเสียก่อน ทำให้ช่วงนี้เราต้องชะลอเพื่อรอดูสถานการณ์ ว่ารัฐบาลใหม่ของเมียนมาจะปฏิบัติอย่างไร ผมหวังว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะยังคงอยู่ด้วยความสงบ มองถึงเสถียรภาพภายในเมียนมา ตัวผมเองชอบเมียนมามาก ผมไปที่นั่นมาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมมองว่าโครงการที่นั่นมีโอกาสสูงที่จะเป็นไปด้วยดี

โดยแผนการลงทุนของ บี.กริม จะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้า ที่เมียนมาต้องมีการพัฒนาสายส่งที่มีเสถียรภาพรองรับการส่งกระแสไฟฟ้า ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการที่เมียนมา เราคุยกันจนได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ตั้งบริษัทก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ผมค่อนข้างมั่นใจในโครงการนี้ เรื่องการเมืองในเมียนมา ผมไม่ถนัด แต่แผนการขับเคลื่อนต่าง ๆ ต้องดำเนินการตาม อมตะ

อย่างไรก็ตามตัวเลขการลงทุนโครงการในเมียนมาขณะนี้ยังไม่อยู่ในแผนงบประมาณการลงทุนของ บี.กริม ในปีนี้ แต่กรอบที่ได้ข้อสรุปกันนั้น เบื้องต้นจะลงทุนโรงไฟฟ้าขนาด 10-30 เมกะวัตต์ (MW) จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะมีโรงงานอะไรเข้ามาลงทุนในโครงการด้วย สำหรับการลงทุนครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผมวางแผนเอาไว้ว่า การผลิตไฟฟ้าจะต้องมีเพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากที่ผ่านมาในเมียนมาไฟฟ้ายังไม่พอใช้และยังขาดความต่อเนื่อง เราจึงมุ่งพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีเป้าหมายผลิตเพื่อใช้ภายใน นิคมอุตสาหกรรมของอมตะ และขายไฟฟ้านอกนิคมอุตสาหกรรม

แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 1/64

ผมยังมองว่าไตรมาส 1 ของบี.กริมจะยังมีข่าวดีจากการลงทุนต่อเนื่องในโครงการต่าง ๆ ในไทยที่มีความคืบหน้าไปได้ดี โดยปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 48 โครงการ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 3,058 MW หากรวมโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของเราขยายไปถึง 3,682 MW ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่จะต้องขยายกำลังการผลิตให้ถึง 7,200 MW ภายในปี 2568 ในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและจะนำไปสู่เป้าหมายที่ 3,682 เมกะวัตต์นั้นจะประกอบด้วย

1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 16 MW ในประเทศไทยมีกำหนดการเปิดดำเนินการในช่วงต้นปี 2564 2) โรงไฟฟ้าไฮบริดในพื้นที่อู่ตะเภาประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 80 MW-โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 15 MW-ระบบกักเก็บพลังงานขนาด 50 MW/ชั่วโมง และ 3) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม (SPP) อีก 7 โครงการ เป็นโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่

โครงการ บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำนวน 140 MW กับ บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำนวน 140 MW เป็นโครงการเพื่อทดแทนโครงการเดิมด้วยเทคโนโลยีใหม่และสามารถประหยัดการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติได้ราว 10-15% ส่วนอีก 5 โครงการคือ บี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำนวน 140 MW-อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำนวน 140 MW-อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำนวน 140 MW-บี.กริม เพาเวอร์ (AIE-MTP) 1 จำนวน 140 MW และ บี.กริม เพาเวอร์ (AIE-MTP) 2 จำนวน 140 MW

M&A ต่อยอดน้ำมันจากสาหร่าย

นอกจากการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าต่อเนื่องแล้ว บี.กริม ยังมองถึงโอกาสในการทำ M&A ในปีนี้ด้วย โดยอยู่ระหว่างการหารือหลายโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 120 MW ที่เวียดนาม แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA

นอกจากนี้ยังมีการร่วมกับพันธมิตรอีกหลายโครงการ เช่น ร่วมกับพันธมิตรสหรัฐศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 2,000 MW ซึ่งอาจจะไม่น่าทันในไตรมาส 1/2564 และยังมีการต่อยอดความสนใจใหม่ในโครงการพัฒนาการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงไร้มลพิษจากสาหร่าย โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับ การไฟฟ้าเกาหลีใต้ (KEPCO) ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิม โดยใช้เทคโนโลยีของเกาหลี แต่ตั้งฐานผลิตอยู่ที่มาเลเซีย โครงการนี้คาดว่าจะรู้ผลช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ส่วนการลงทุนในประเทศ ทางบี.กริมเพิ่งร่วมลงทุนกับ บริษัทยูนิเวนเจอร์ บีจีพี จำกัด หรือ UVBGP บริษัทย่อยของ บริษัทยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV โดย บี.กริม เข้าไปซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ UVBGP จำนวน 2,250,000 หุ้น ด้วยมูลค่า 22.5 ล้านบาท จากกระแสเงินสดที่มีอยู่ เพราะการเป็นพันธมิตรกับ ยูนิเวนเจอร์ จะเป็นการช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการลงทุน-พัฒนา-บริหารจัดการ และดำเนินโครงการด้านพลังงาน

อานิสงส์ราคาก๊าซถูกลง

ทุกปีเป็นปีที่ดีขึ้นสำหรับ บี.กริม ผมมองเห็นโอกาสในหลายประเทศ ปีก่อน บี.กริม สามารถสร้างโรงไฟฟ้าความร้อนรวมขนาด 39 MW ในกัมพูชาได้สำเร็จ ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ใน สปป.ลาวมีอีกหลายสัมปทานที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในเวียดนามก็เป็นประเทศที่มีโอกาสเยอะ ปีนี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าขนาด 120 MW ส่วนพลังงานลมกำลังจะเริ่มในเกาหลี จะมีข่าวดีโครงการลมมากขึ้นและจะทำโรงไฟฟ้าโซลาร์ด้วย ในฟิลิปปินส์มีโซลาร์บนหลังคา ส่วนในมาเลเซียน่าจะมีความคืบหน้าในปีนี้ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

โดยปัจจัยบวกที่สำคัญก็คือ ราคาก๊าซที่ลดลง ดังนั้นรายได้ของทุกบริษัทที่ขายไฟฟ้าก็น่าจะดีขึ้น และ บี.กริม อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์บริษัทเพื่อเห็นโอกาสในการลงทุนและเรามีจุดแข็งก็คือ การมีผู้ร่วมทุนและมีผู้ร่วมงานที่ดีและเก่ง