ข้อตกลง อาร์เซ็ป ไทยให้สัตยาบันได้ในปีนี้ คาดบังคับใช้ต้นปี 2565

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

กรมเจรจาการค้าฯ เร่งเดินหน้าให้ไทยลงสัตยาบันให้ได้ในปี 2564 นี้ คาดว่าจะทำให้ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2565 นี้ ชี้ อาร์เซ็ป ข้อตกลงใหญ่ที่สุดในโลก สินค้าไทยมากกว่า 90% จะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดสำคัญอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ภายหลังที่ประชุมสภาฯเห็นชอบให้ประเทศไทยลงนามสัตยาบันในข้อตกลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ทำให้กรมฯทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดทำหนังสือการให้สัตยาบันของประเทศไทย ก่อนที่จะเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียน

แต่ก่อนที่จะยื่นไปนั้นจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีความพร้อมในทุกด้านโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับตัวซึ่งหากจัดการแล้วคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะให้สัตยาบันได้และมีผลบังคับใช้ได้ในต้นปี 2565

“เบื้องต้นมี 3 หน่วยงานที่ต้องปรับแนวทางปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้ เช่น กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหากแก้ไขเรียบร้อยประเทศไทยถึงจะให้สัตยาบันได้ เพราะประเทศไหนจะให้สัตยาบันจะต้องมีความพร้อมทุกอย่าง สำหรับประเทศไทยหน่วยงานดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือนแก้ไขข้อแนวปฏิบัติ และพร้อมเดินหน้าให้สัตยาบัน กลางปีนี้น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน และหากอาเซียน 6 ประเทศ นอกอาเซียน 3 ประเทศให้สัตยาบัน อีก 60 วันก็บังคับใช้ได้ทันที”

สำหรับในระยะยาวที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จใน 3-5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย และเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอยู่ คือการยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล คือ การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ว่าด้วยลิขสิทธิ์ (WCT) และสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง และผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ข้อตกลง อาร์เซป เป็นข้อตกลงที่ช่วยขยายโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย 90-92% ของสินค้าส่งออกไทยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากตลาด RCEP และสำหรับตลาดจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้กับสินค้าไทยใน RCEP เช่น สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป

ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย และกระดาษ เป็นต้น อีกทั้ง ยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบจาก15 ประเทศ RCEP มาผลิตและส่งออกไปตลาด RCEP โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและความยุ่งยากในการบริหารจัดการด้วย

“RCEP ยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก เนื่องจากมีกฎระเบียบมาตรการทางการค้า และพิธีการทางศุลกากรที่สอดคล้องกัน รวมทั้งลดความยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การกำหนดเวลาตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร สำหรับสินค้าเร่งด่วนและเน่าเสียง่ายต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไป ภายใน 48 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้ง ยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าบริการและการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพด้วย”

สำหรับความตกลง RCEP เป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย และจะเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากประกอบด้วย สมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกว่า 2,200 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวม 326 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของการค้าโลก ในปี 2563 การค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท (57.5% ของการค้ารวมของไทย)

โดยไทยส่งออกไป RCEP มูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.83 ล้านล้านบาท (53.3% ของการส่งออกไทย) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

นางอรมน กล่าวอีกว่า ขณะที่การจัดตั้งกองทุน FTA ล่าสุด กรมฯ ได้จัดทำรายละเอียดข้อเสนอการขอตั้งกองทุนเอฟทีเอใกล้เสร็จแล้ว โดยจะเร่งนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความเห็นชอบให้เสนอเรื่องการตั้งกองทุนเอฟทีเอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบในหลักการ กรมฯ จะนำร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี สำหรับกรอบประเด็นสำคัญในการจัดตั้งกองทุน ได้มีการศึกษาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด และเงินหมุนเวียน โดยจะมีหน่วยงานข้อกลางที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ หรือธนาคารของรัฐในระดับพื้นที่ เป็นตัวกลางสำหรับประสานงานและเสนอคำขอรับความช่วยเหลือไปยังหน่วยบริหารกองทุนเอฟทีเอ

ประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากเงินทุนประเดิมของรัฐบาลและงบประมาณประจำปี อีกทั้ง ยังเป็นข้อแนะนำจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของรัฐสภา ที่เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอด้วย