ลากไส้ “ถุงมือยาง” อคส. ใครเป็นใครเอี่ยวสัญญาแสนล้าน ?

ถุงมือยาง

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ “นายประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย อภิปรายกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) จำนวน 500 ล้านกล่อง วงเงิน 112,500 ล้านบาท

พร้อมแสดงข้อมูลหลักฐาน และผลการศึกษาจาก กมธ.พาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร และคลิปเสียงประกอบที่อ้างว่าเป็นหลักฐานสำคัญจากการประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 หลังการทำสัญญากับบริษัทถุงมือยาง 1 วัน

โยงภาพสะท้อนให้เห็นว่ามีการแบ่งแยกหน้าที่กันทำ พร้อมทั้งมีตัวละครสำคัญเชื่อมโยงกับการทุจริตดังกล่าว ประกอบด้วย นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส. ซึ่งเป็นคนสนิทนายจุรินทร์ และอดีตผู้ช่วยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่สั่งการ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยารัตน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส.

และยังมี นายศรายุทธ์ สายคำ หรือเอี่ยว อดีตผู้สื่อข่าวและคนสนิทประธาน อคส. เป็นผู้คอยทำหน้าที่ประสานงาน ซื้อถุงมือยางจากบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มีนายธณรัสย์ หัดศรี เป็นกรรมการ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยมีประวัติคดีฉ้อโกงหลายคดี

จัดฉากทำสัญญาลวง

นายประเสริฐกล่าวถึงกระบวนการซื้อขายที่มีการจัดฉากทำสัญญาลวงว่า มีผู้ต้องการซื้อจำนวนมากจาก อคส.จำนวนมาก จนทำให้ อคส.ต้องเลือกทำสัญญาซื้อจากบริษัทดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ด

เริ่มจากคนสนิทประธาน อคส. มีหนังสือถึงนายรุ่งโรจน์ วันที่ 25 สิงหาคม 2563 ระบุว่า มีบริษัท เคเนตลอว์ ออฟฟิศ ขอซื้อถุงมือยางจาก อคส. เพื่อนำไปส่งให้ประเทศสหรัฐ และยุโรป 500 ล้านกล่อง กล่องละ 230 บาท

ทำให้ อคส.มีการเจรจากับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ที่เป็นโรงงานผลิตถุงมือยาง เสนอขายถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 225 บาท และให้ อคส.โอนเงินในบัญชีไปชำระค่าถุงมือล่วงหน้าก่อน 2,000 ล้านบาท ส่วนทางบริษัทการ์เดียนฯก็นำเงินส่วนหนึ่งจากเงินค่าถุงมือกลับมาวางค้ำประกัน 200 ล้านบาท เท่ากับบริษัทนั้นไม่ได้ลงทุนอะไร แถมยังได้เงินทอนไป 1,800 ล้านบาท

ปมซื้อแพงขายถูก ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ อคส.ไปทำสัญญาขายถุงมือยางให้ 7 บริษัท 826 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 225 บาท รวมมูลค่า 186,100 ล้านบาท เท่ากับขาดทุนกล่องละ 5 บาท จากราคาซื้อกล่องละ 230 บาท

แฉพิรุธคู่สัญญา

และที่สำคัญ “บริษัท” ผู้ขายถุงมือให้ อคส.ยังไม่มีประสบการณ์มากเท่าที่ควร เพราะเพิ่งก่อตั้งเมื่อ 22 มิถุนายน 2563 ก่อนจะทำสัญญาเพียง 2 เดือน มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แต่กล้าทำสัญญาหลักแสนล้านบาท

ขณะที่บริษัทผู้ซื้อถุงมือยางจาก อคส. 7 ราย ได้แก่

1.บริษัท ไทยสไมล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปผักและผลไม้ จำนวน 52 ล้านกล่อง กล่องละ 225 บาท รวมเงิน 11,700 ล้านบาท

2.บริษัทกาโลลี่ แมนเนจเม้นท์ จดทะเบียนที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 223 บาท รวมเป็นเงิน 22,300 ล้านบาท

3.บริษัทเครเนค ลอว์ ออฟฟิส เป็นบริษัทจดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซื้อ 500 ล้านกล่อง กล่องละ 230 บาท รวมเป็นเงิน 115,000 ล้านบาท

4.บริษัท ควีนพาวเวอร์ คอมปานี จำกัด ซึ่งตรวจสอบที่ตั้งแล้วเป็นเพียงสำนักงานกฎหมาย สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 210 ล้านบาท มูลค่า 2,520 ล้านบาท

5.บริษัท ทเวนตี้โฟว์ คลีน เอ็นเนอร์จี้ สั่งซื้อ 12 ล้านกล่อง กล่องละ 215 ล้านบาท รวมมูลค่า 2,580 ล้านบาท

6.บริษัท เคเค ออยล์ จำกัด สั่งซื้อ 50 ล้านกล่อง กล่องละ 220 ล้านบาท มูลค่า 11,000 ล้านบาท

และ 7.บริษัท เอ แอเมทิสต์ จำกัด สั่งซื้อ 100 ล้านกล่อง กล่องละ 210 ล้านบาท มูลค่า 21,000 ล้านบาท

ในกลุ่ม 7 รายนี้ไม่ได้เป็นบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับถุงมือยาง โดยพบมีถึง 3 สัญญา ที่ทำสัญญาลวง เพื่อสร้างข้อมูลเท็จว่ามีคำสั่งซื้อจาก 3 บริษัท จำนวน 652 ล้านกล่อง 149,000 ล้านบาท นำไปอ้างว่า อคส.มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจัดหาถุงมือยางจำนวนมาก เพื่อไปขายให้ 3 บริษัทเหล่านี้ตามออร์เดอร์ที่สั่งมา จึงจำเป็นต้องเร่งเซ็นสัญญากับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ ตามข้อมูลการตั้งข้อสังเกตจาก กมธ.พาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎรว่าอาจเป็นกลอุบายการทำสัญญาเท่านั้น

ขายถุงมือไนไตรล์ช่วยชาวสวน

และประเด็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงอีกด้าน คือ ข้ออ้างว่าจะทำตลาดถุงมือยางช่วยชาวสวน แต่ในสัญญา ข้อ 1 ระบุว่า เป็นการซื้อ “ถุงมือยางไนไตรล์” และสัญญาข้อ 10 บอกให้ผู้ขายส่งมอบถุงมือยางไนไตรล์และถุงมือยางลาเท็กซ์ ซึ่งเป็นคนละชนิดกัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี “ถุงมือยางไนไตรล์ คือ ยางสังเคราะห์จากปิโตรเลียม” คนละชนิดกับถุงมือยางลาเท็กซ์ ดังนั้น การขายถุงมือประเภทนี้จึงไม่น่าจะเป็นการช่วยชาวสวนยาง

หละหลวมไม่ผ่านบอร์ด

ตามกฎหมายให้อำนาจ ผอ.อคส.ทำสัญญาได้ในวงเงินไม่เกิน 25 ล้านบาท แต่หากมากกว่านั้นจะต้องเสนอประธาน และผ่านบอร์ด อคส. แต่ด้วยเหตุที่มีการจัดฉากอ้างความต้องการซื้อเร่งด่วนและเจตนาที่ต้องการให้ อคส.มีรายได้พ้นการขาดทุน

จึงทำให้การทำสัญญาซื้อขายไม่ผ่านบอร์ด มีเพียง “หนังสือเวียน” เท่านั้น และมีบอร์ดท้วงติงเรื่องสัญญาซื้อขายมีมูลค่าสูงเกินอำนาจ ผอ.อคส. แต่ไม่ได้รับคำตอบ และปรากฎคลิปเสียง ประธานบอร์ด อคส.บอกว่า เป็นเรื่องลับรอรัฐมนตรีมา “กดเดิน”

ขีดเส้น 15 วันนายกฯสั่งแก้ไข

นายประเสริฐกล่าวสรุปว่า สิ่งที่นายกฯควรทำแต่ไม่ทำ คือ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดี อายัดเงิน 400 ล้านบาท ที่ยังคงเหลือในบัญชีของบริษัท การ์เดียนฯ ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ไม่ปกปิด ไม่ช่วยเหลือ “ปรับ ครม.” และรับผิดชอบโดยการลาออก โดยขีดเส้นให้ดำเนินการภายใน 15 วัน

“จุรินทร์” เอาจริง โชว์ผลสอบ 2 พันแผ่น

ขณะที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ตอบประเด็นนี้โดยสรุปว่า เห็นด้วยเกือบทุกประการกับสิ่งที่ผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจอดีตรักษาการ ผอ.อคส. กับพวก บริษัท การ์เดียน โกลฟส์ และอีก 7 บริษัท ประธานบอร์ดและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีอะไรไปโต้แย้ง แต่ขอปฏิเสธว่า ตนไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แอบสั่งการในที่ลับหรือแจ้งก็ตาม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

“ที่กล่าวหาว่าประธานบอร์ดเป็นคนสนิทของผม กรณีนี้ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักใคร ไม่ได้แปลว่าคุณมีอำนาจล้นฟ้า เมื่อไรที่กระทำผิดกฎหมาย คุณก็ต้องเข้าคุก และเรื่องนี้ผมไม่ยอม ไม่ว่าใครทุจริตโครงการนี้ ผมจะจัดการทั้งทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา ถึงที่สุด”

“ตราบเท่าที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ และกฎหมายให้อำนาจผม การพูดในสภาถือเป็นเรื่องผูกพันของผม ถ้าไปพูดที่อื่น และไม่ทราบแหล่งที่มาของเทปเสียง เพื่อจงใจใส่ความผมทำให้คนเข้าใจผิดว่ารัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวข้อง”

นายจุรินทร์ย้ำว่า สิ่งที่ผู้อภิปรายเปิดเผยโกหกหลายประการ ทั้งเรื่องการทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อเรื่องดังกล่าว ไม่ตั้งกรรมการสอบ การอายัด การดำเนินคดี การดำเนินการเมื่อทราบเรื่อง ยืนยันว่าทั้งหมดได้ดำเนินการโดยทันทีที่ทราบ (ตามกราฟิก) และยังได้ประสานงานเรื่องย้ายอดีตรักษาการ ผอ.อคส. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง

อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่หน่วยราชการระดับกรม ซึ่งรัฐมนตรีไม่ได้มีอำนาจไปสั่งการทางนโยบายได้ เดิมรัฐมนตรีเคยได้เป็นประธานบอร์ด แต่ตามพระราชกฤษฎีกา อคส.ฉบับใหม่ พ.ศ. 2535 ให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความชำนาญทางธุรกิจมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อแยกออกจากการเมือง

ซึ่งการแต่งตั้งบอร์ดหรือถอดถอนไม่ใช่หน้าที่รัฐมนตรีแต่เป็นความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และบอร์ดมีหน้าที่วางนโยบายให้ อคส.ไปปฏิบัติ

“รัฐมนตรีมีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไป” ไม่ใช่สั่งปฏิบัติราชการเหมือนกรมที่ดูแล ส่วนเรื่องที่จะเสนอ ครม.ให้บอร์ดเสนอผ่านรัฐมนตรีไปยัง ครม. เพื่อพิจารณาตัดสิน แปลว่า “รัฐมนตรี คือ บุรุษไปรษณีย์” เป็นตัวผ่านนำเรื่องเข้า ครม. และตามกฎหมาย ให้บอร์ดรายงานเสนอรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้งว่าทำไมถึงออกนโยบายและมีนโยบายอะไรบ้าง สรุปรัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด บอร์ดมีนโยบายอย่างไรแล้ว รัฐมนตรีจะไปสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้

“ผมใช้อำนาจหน้าที่ที่ผมมีอยู่จำกัดดำเนินการร่วมกับผู้อำนวยการคนใหม่ในหลายประการ และให้รายงานติดตามอย่างเป็นระยะ ซึ่งสุดท้ายได้แจ้งว่าตรวจสอบเสร็จแล้ว มีเอกสาร 2,268 แผ่น พบผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย และได้รายงานข้อเท็จจริงต่อบอร์ด มีมติรับทราบ”


“ที่สำคัญ ผอ.อคส.คนใหม่ได้ส่งเอกสารทั้งหมดเพื่อประกอบการไต่สวน กระทั่งไปดำเนินการสอบตามวินัย ผมก็สั่งการอีก 3 ข้อ ในวันนั้น 1.ทราบ 2.ให้เร่งดำเนินการแพ่งอาญาสูงสุด 3.ให้ดำเนินการ สรุปผมได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนเพื่อดำเนินการอย่างแท้จริง ที่จะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ พร้อมนำเงินสองพันล้านพร้อมดอกเบี้ย เพื่อกลับคืนรัฐโดยเร็วที่สุด ภายใต้อำนาจหน้าที่ของผมที่สามารถทำได้”