ส่งออกอาหารเดือด คู่แข่งชิงบัลลังก์ “ครัวโลก”

แม้จะมีแนวโน้มว่าภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2564 จะขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ส่งออกติดลบ 4.6% ซึ่งมีมูลค่าที่ 1,023,077 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องน่ากังวล คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ จะเป็นคู่แข่งสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต หากไทยไม่พัฒนาและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ในฐานะ “ครัวของโลก” ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกอาหารมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นเวลายาวนาน

สถาบันอาหารระบุว่า ภาพอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลง 4.1% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 4.1% มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.32% จากเดิม 2.49% ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน โดยตลาดที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ซาฮาราอาเซียนเดิม สหภาพยุโรป (-11.0%) กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นต้น

ไทยหลุดอันดับ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพของการส่งออกอาหารของไทยในปี 2564 มีโอกาสที่จะตกอันดับลงได้จากปี 2563 มาอยู่ที่ 13 จาก อันดับที่ 11 ในปี 2562 เนื่องจากคู่แข่งไทยมีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการแปรรูปอาหาร

จากที่คิดว่าไทยมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ แต่ต้องยอมรับว่าหลายประเทศมีการพัฒนาขึ้นเร็วมากโดยเฉพาะเวียดนาม และอินโดนีเซีย และยิ่งมีทรัพยากรที่พร้อม ประชากรจำนวนมาก ทำให้ประเทศมีการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ส่งออกอาหารได้มากขึ้น เช่น กะทิ โอกาสที่จะส่งออกไปในตลาดโลกมีสูง เมื่อวัตถุดิบส่งออกไม่ได้ทำให้ต้องพัฒนาวัตถุดิบโดยการแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออกก็จะทำให้การส่งออกกะทิไทยลดลง

อย่างไรก็ดี ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารไทยได้รับผลกระทบและแข่งขันลำบากขึ้น สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็น้อยลง ทำให้ไทยต้องเร่งทำข้อตกลงการค้าให้มากขึ้น และหากหน่วยงานรัฐช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยพร้อมส่งเสริมจะทำให้การส่งออกอาหารไทยดีขึ้น

โดยยังมีสินค้าอาหารหลายรายการเริ่มเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากขึ้นหากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เช่น อาหารกลุ่มโปรตีนที่ทำจากพืช และผลิตเป็นเนื้อสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อปลา นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้ากลุ่มแมลงที่กำลังเติบโตด้วยเช่นกัน

แข่งขันลำบาก

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เดิมภาพการส่งออกอาหารของไทยในหลายรายการเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ปัจจุบันจะพบว่าการส่งออกลดลงโดยเฉพาะตลาดยุโรป เช่น สับปะรดกระป๋อง

การส่งออกลดลงตั้งแต่ปี 2559 โดยประเทศที่ส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เคนยา, ปลาทูน่ากระป๋องของไทยส่งออกลดลง ขณะที่จีน ฟิลิปปินส์ส่งออกเพิ่มขึ้น และตลาดจีน ประเทศไทยส่งออกลดลง แต่ประเทศคู่แข่งส่งออกเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่รัฐต้องเข้ามาดูแลและสนับสนุน สิ่งสำคัญคือเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญ การแก้ไขปัญหาเรื่องของกฎระเบียบ การนำเข้า-ส่งออก วัตถุดิบเพื่อการส่งออกให้มีความชัดเจน การขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน การเร่งจัดทำข้อตกลงทางการค้าโดยเฉพาะ FTA ไทย-ยุโรป เพื่อให้อัตราภาษีนำเข้าของไทยแข่งขันได้”

“หากรัฐไม่มีการกำหนดนโยบายออกมาอาจจะส่งผลกระทบไปในวงกว้างโดยเฉพาะเกษตรกร เมื่อผู้ผลิต โรงงานมีปัญหาก็ต้องย้ายเพื่อหาทางออก แต่กับเกษตรกรทำไม่ได้ จะย้ายที่ดินไปปลูกที่อื่นก็ทำไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง”

เทรนด์ราคาอาหารโลก 3.5%

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% ภายใต้สมมุติฐาน เศรษฐกิจโลกขยายตัว 5.5% ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาอาหารโลกขยายตัว 3.5% และราคาน้ำมันดิบ 75 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โควิดปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยสำคัญจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น มีส่วนเสริมให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า ไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสับปะรด การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ การขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก เช่น กุ้ง ปลาทะเล ปลาหมึก ค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้กลุ่มอาหารที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น กุ้งแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ไก่ น้ำตาลทราย ข้าว และผักผลไม้สด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องของต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งภายในประเทศที่มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารไทยในปีนี้