CPAC รับซื้อใบอ้อยให้ตันละ 200-1,500 บาท เริ่ม 3 จังหวัด สระบุรี อยุธยา กาญฯ

อ้อย

สำนักงานอ้อยฯ จับมือ CPAC ลงนามโครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มรับซื้อใบและยอดอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย ตันละ 200-1,500 บาท

เริ่ม 4 พื้นที่ใน 3 จังหวัด สระบุรี อยุธยา กาญจนบุรี สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้ จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากมลพิษจากการเผาอ้อยมา ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และควันที่เกิดจากการเผาอ้อย และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย

โดย บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) จะเข้ามารับซื้อเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากการทำไร่อ้อย เช่น ยอดและใบอ้อย เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย สอน. จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง

ได้แก่ อำเภอท่าหลวง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี, อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้สามารถส่งโรงงานแปรรูป คาดว่าจะสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่

โดย CPAC จะดำเนินการรับซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200 – 1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด สร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งโรงงานแปรรูปใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และดำเนินการขนส่งใบอ้อยที่แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนแล้วและนำไปใช้งาน

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) กล่าวว่า เชื่อมั่นความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย

ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน