กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ เทรนด์สุขภาพหนุน “น้ำมันรำข้าว” โต

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจการปรุงอาหารรับประทานเอง โดยเน้นวัตถุดิบที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นแรงผลักให้ตลาด “น้ำมันรำข้าว” ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะเติบโตต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท กมลกิจ และกลุ่มบริษัท กสิสุรีย์ ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าว และผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวแบรนด์คนไทย “ชิม” มาอย่างยาวนาน

ภาพรวมธุรกิจ

น้ำมันรำข้าวแบรนด์ชิม (Chim) ดำเนินการมาได้ 40 ปีแล้ว ต่อมาจึงได้ขยายแบรนด์น้ำมันรำข้าวออกมาอีก 2 แบรนด์ คือ Alfa one ประมาณ 20 ปี และแบรนด์ RIZI ดำเนินการมาประมาณกว่า 10 ปี

ส่วนใหญ่กว่า 90% ส่งออกไปต่างประเทศ 35 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และฮ่องกง เป็นต้น และอีก 10% ขายในประเทศ

ซึ่งนอกจากการผลิตภายใต้แบรนด์ของบริษัทเองแล้ว อีกด้านหนึ่งบริษัทก็ยังรับจ้างผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับตลาดอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้น้ำมันรำข้าวด้วย

“การทำตลาดน้ำมันรำข้าวของบริษัทนั้น ส่วนใหญ่ทำตลาดพรีเมี่ยม เนื่องจากคุณภาพและวัตถุดิบที่เป็นรำข้าวไทย 100%

ทิศทางราคาน้ำมันรำข้าว

ระดับราคาขายแต่ละแบรนด์จะแตกต่างกัน เช่น Alfa one จำหน่ายราคา 150 บาทต่อลิตร และเป็นแบรนด์ที่ตลาดต้องการมาก Chim จำหน่ายในราคา 65-70 บาทต่อลิตร และ RIZI จำหน่ายในราคา 120 บาทต่อลิตร

“ราคาจะแตกต่างกันตามขั้นตอนการสกัด กรรมวิธีการผลิตที่ต่างกันออกไป รวมไปถึงต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าวัตถุดิบรำข้าวมีราคาสูงขึ้นเป็น 10 เท่าจากอดีต ทำให้น้ำมันรำข้าวสูงกว่าน้ำมันพืชทั่วไป จึงเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น มูลค่าของตลาดนี้จึงยังไม่สูงเท่ากับน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันทานตะวัน”

เทรนด์รักสุขภาพหนุนตลาด

“แม้ว่าปกติราคาน้ำมันรำข้าวจะสูงกว่าน้ำมันพืชทั่วไป แต่ผู้บริโภคก็ยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก จากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องของสุขภาพ ทำให้ตลาดน้ำมันรำข้าว เป็นที่ต้องการ เราเห็นโอกาสว่ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เพียงแต่ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันชนิดดีว่าดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ คุณสมบัติของรำข้าว”

ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด

แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 การผลิตและการส่งออกของบริษัทยังดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำลังการผลิตยังคงเต็มที่ อาจจะมีปัญหาบ้างเล็กน้อย ในเรื่องของวัตถุดิบที่อาจจะไม่เพียงพอบ้าง

“โควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบทางอ้อม ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างธุรกิจอื่น ๆ

แต่ผลกระทบที่เจอนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาของค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่มีผลต่อรายได้ การขนส่งจากปัญหาเรื่องของเรือน้อยลง ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ร้านอาหารในต่างประเทศที่ใช้น้ำมันรำข้าวได้รับผลกระทบจากโควิดก็มีผลทำให้การใช้น้อยลง แต่การบริโภคทั่วไปภายในบ้านที่ซื้อในห้างสรรพสินค้าทั่วไปในต่างประเทศยังเติบโตและมีความต้องการซื้อสินค้าอยู่จึงเข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนนั้น”

วัตถุดิบดี-ได้มาตรฐาน

ในอนาคตบริษัทมุ่งขยายโอกาสการส่งออกไปในต่างประเทศมาก ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รู้ว่าน้ำมันที่ผลิตจากรำข้าว ต้องมีการบอกถึงข้อดีข้อเสียให้ได้รับรู้ว่าน้ำมันรำข้าวมีคุณสมบัติที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก

จุดแข็งสำคัญที่ทำให้น้ำมันรำข้าวของบริษัทยังคงรักษาการเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลจากการใช้รำข้าวมีคุณประโยชน์ทางคุณค่าของสารอาหารหลายชนิด ทั้งวิตามินที่มีคุณค่าทางอาหาร มีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล ทั้งยังไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และยังทนความร้อนได้สูง สามารถนำมาทอด ผัดได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทยังได้รับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องจากผู้นำเข้าทั้งหมด จึงทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด เป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ และด้วยเทรนด์สุขภาพเชื่อว่าจะทำให้หันมาสนใจน้ำมันเพื่อสุขภาพ ทำให้ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

เร่งส่งออกทำน้ำมันปาล์มขาด

ผ่านมา 2 สัปดาห์ สถานการณ์การจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในตลาดคงจำกัดปริมาณการซื้อต่อคน บางห้างไม่มีสินค้าวางจำหน่าย

ย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหา เกิดจากภาวะสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยมีปริมาณ 301,664 ตันในเดือนพฤศจิกายน 2563 ก็ค่อย ๆ ปรับลดลงเหลือ 141,130 ตัน เมื่อเดือนมกราคม 2564 น้อยกว่าสต๊อกสำรองเพื่อความมั่นคงที่ควรจะมี 250,000 ตัน

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสต๊อกปาล์มน้ำมันที่ลดลงเป็นผลจากการใช้มาตรการสนับสนุนการส่งออกเพื่อระบายสต๊อก ซึ่งตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563

มีการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ปริมาณ 2 แสนตัน แบ่งเป็นเดือน ก.ค. 63 ปริมาณ 29,000 ตัน เดือน ส.ค. 63 ส่งออก 65,000 ตัน เดือน ก.ย. 63 ส่งออก 70,000 ตัน และเดือน ต.ค. อีก 38,000 ตัน

ช่วงนี้จึงถือว่าเป็นปริมาณที่มีความเสี่ยง “ขาดตอน” เพราะผลผลิตปาล์มน้ำมันรอบใหม่จะออกสู่ตลาดอีกครั้งราวเดือนมีนาคม 2564 กรมการค้าภายในจึงได้เรียกหารือและยุติการใช้มาตรการสนับสนุนการส่งออก

ซึ่งต้องมาลุ้นว่าสถานการณ์ปริมาณน้ำมันปาล์มขวดจะคลี่คลายลงได้ภายในเดือนมีนาคมหรือไม่

อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้การจำหน่ายน้ำมันพืชชนิดอื่น เริ่มตึงตัวและมีการขยับราคาขึ้นมาเป็นขวดละ 50 บาทใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์มเฉลี่ยขวดละ 45-49 บาท

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการน้ำมันถั่วเหลืองระบุว่า ขณะนี้ราคาวัตถุดิบถั่วเหลืองในตลาดปรับราคาขึ้นจากตันละ 700 เป็น 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลต่อต้นทุนผลิตน้ำมันถั่วเหลืองสูงขึ้น แต่น่าจะเป็นปัญหานี้ระยะสั้น เพราะระยะเวลาการเพาะปลูกถั่วเหลืองใช้เวลา 3-4เดือนเท่านั้นก็ให้ผลผลิต