200 CEO มั่นใจรัฐบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แค่ 22% หวั่นผลข้างเคียง

เปิดผลสำรวจ FTI Poll ผู้บริหาร ส.อ.ท. 200 ราย (CEO Survey) พอใจต่อแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดของภาครัฐอยู่ใน “ระดับปานกลาง” ยังหวั่นผลข้างเคียง แนะนำระบบดิจิทัลมาใช้บริหารจัดการความร่วมมือจากภาคเอกชน พร้อมดันพาสปอร์ตวัคซีน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้หัวข้อ “ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการวัคซีนในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความพึงพอใจต่อแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดของภาครัฐอยู่ใน “ระดับปานกลาง” และมองว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนการกระจายวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนมีประสิทธิภาพ คือ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการความร่วมมือจากภาคเอกชนในการบริหารจัดการ และความพร้อมของบุคลากร/สถานที่ในการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ ยังมองว่า ภาครัฐควรออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่องหลังจากการฉีดวัคซีนตามแผนแล้ว อาทิ มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ มาตรการช่วยเหลือ/สนับสนุนธุรกิจ SME และการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) เป็นต้น

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 200 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการวัคซีนในการยับยั้งการแพร่ระบาดโควิดของภาครัฐ อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็น 61% รองลงมามีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับมาก 22% และความเชื่อมั่นอยู่ในระดับน้อย 17%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าผู้บริหารส่วนใหญ่มีความพร้อมในการรับวัคซีนโควิดจากภาครัฐ แต่ยังคงมีความกังวลถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน คิดเป็น 60.5% ขณะที่มีผู้บริหารที่มีความพร้อมและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีน คิดเป็น 31.5%

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนในลำดับถัดไปต่อจากบุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุขและบุคคลที่มีโรคประจำตัว พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงในการปฎิบัติงาน เช่น ตำรวจ อาสาสมัคร ฯลฯ 73.5% อันดับ 2 แรงงานในภาคบริการ 55.5% และอันดับ 3 กลุ่มผู้สูงอายุ 54.5%

โดยปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนการกระจายวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนมีประสิทธิภาพ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ 63% อันดับ 2 ความร่วมมือจากภาคเอกชนในการบริหารจัดการวัคซีน 58% และอันดับ 3 ความพร้อมของบุคลากร/สถานที่ในการฉีดวัคซีน 57.5%

นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกไปถึงเรื่องการส่งเสริมให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิดที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ 58.5% เห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาใช้ในประเทศ โดยมีเงื่อนไขเฉพาะภายใต้ระเบียบปฏิบัติของรัฐ รองลงมา 34% ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน

และเมื่อถามถึงความพร้อมของภาคเอกชนที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าวัคซีนโควิดให้แก่พนักงานในบริษัท พบว่า 43% ภาคเอกชนสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้บางส่วน รองลงมา 36% ยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ขณะที่ 21% สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้เอง

ในส่วนของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 58.5% เห็นว่าภาครัฐควรนำมาตรการพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) มาใช้ควบคู่กับมาตรการกักตัว 14 วัน สำหรับกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศ และรองลงมา 35% อยากให้นำมาตรการพาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) มาใช้ทดแทนมาตรการกักตัว 14 วัน

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคงมองว่า ภาครัฐควรดำเนินมาตรการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการฉีดวัคซีนโควิดตามแผนให้แก่ประชาชนแล้ว โดยพบว่า 3 อันดับแรกที่ ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ อันดับที่ 1 มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 67.5% อันดับที่ 2 มาตรการช่วยเหลือ/สนับสนุนธุรกิจ SME 63.5% ขณะที่อันดับที่ 3 เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มี Vaccine Passport 61%