
สนค.จับมือ WEF จัดประชุมเวิร์กช็อปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หลังรายงาน WEF ปรับอันดับความสามารถในการแข่งขันไทยดีขึ้น
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2560 World Economic Forum (WEF) จัดลำดับให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขัน Global Competitiveness Index (GCI) ประจำปี 2560/2561 ให้ไทยมาอยู่ลำดับที่ 32 จากปีก่อนที่ลำดับที่ 34 จาก 137 ประเทศ หากเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศที่อยู่ในบัญชีการจัดอันดับ (ยกเว้นเมียนมา ที่ยังไม่ได้อยู่ในการจัดอันดับ) ทั้งนี้ ไทยมีคะแนนด้านความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และมาเลเซีย ไทยได้คะแนน 4.72 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน จากการปรับคะแนนที่ดีขึ้น 8 ด้าน ใน 12 เสาหลัก (pillar) ได้แก่ ด้านสถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้านอุดมศึกษาและการฝึกอบรม ด้านประสิทธิภาพตลาดสินค้า ด้านประสิทธิภาพตลาดแรงงาน ด้านความพร้อมในเทคโนโลยี ด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และด้านนวัตกรรม
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
ล่าสุด นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ และสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) เตรียมจัดการประชุมเชิงวิชาการ Com-petitiveness and Inclusive Growth : Navigating towards Thailand 4.0 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560
โดย การประชุมครั้งนี้ ฝ่าย WEF ประกอบด้วย Justin Wood Head Asia Pacific พร้อมด้วย Clara Chung. Head, Business Engagement, Asia Pacific, Busba Wongnapapisan. Lead, Business Engagement, Asia Pacific, Thierry Geiger. Head, Analytics and Quantitative Research, Global Competitiveness and Risk และ Gemma Corrigan. Project Lead, Economic Growth and Social Inclusion System Initiative จะช่วยอธิบายถึงการคำนวณดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดอันดับความสามารถในการ แข่งขัน (competitiveness ranking) ของประเทศต่าง ๆ โดยในปี 2561 มีแนวโน้มที่จะนำเกณฑ์ชี้วัดใหม่มาใช้ในการวัดและจัดอันดับ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมมากขึ้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า WEF มีกำหนดหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนรายสำคัญ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
“ในครั้งนี้จะหารือประเด็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย จะมาดูกันว่าอะไรเป็นจุดอ่อน จุดแข็ง ที่จะต้องเสริม หรือปรับปรุง เพื่อผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ เพราะ WEF เป็นผู้มีความชำนาญด้านนโยบายและการปรับตัว ซึ่งไทยจะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะมาปรับใช้กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก” นางอภิรดีกล่าว