ดีเดย์จดเทรดมาร์ก155ประเทศผ่าน”พิธีสารมาดริด”

“พาณิชย์” คิกออฟบริการรับจดเทรดมาร์กจุดเดียวคุ้มครอง 115 ประเทศผ่านระบบพิธีสารมาดริด 7 พ.ย.นี้ ด้านสมาพันธ์เอสเอ็มอี หนุนจดเทรดมาร์ก สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ามากขึ้น หลังพบเอสเอ็มอีมีเทรดมาร์กแค่ 10% เกิดปัญหาถูกก๊อปในต่างประเทศ

นาย ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ กรมเตรียมเปิดให้บริการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในระบบใหม่ ตามที่ไทยได้ยื่นภาคยานุวัตรสารพิธีสาร มาดริดไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 โดยระบบนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าที่กรมทรัพย์สินทาง ปัญญาเพียงแห่งเดียว เพื่อขอรับความคุ้มครองในประเทศสมาชิกพิธีสารมาดริด 115 ประเทศทั่วโลก

“เดิมหากคนไทยจะจดเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ต้องยื่นทีละประเทศ คนละแบบฟอร์ม หลายภาษา คนละสกุลเงิน และต้องใช้ตัวแทนยื่นคำขอ แต่ระบบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไม่ต้องเดินทางไป ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในทุกประเทศ ไม่ต้องจ่ายค่าตัวแทนทนายไปยื่น เพียงมายื่นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เพียงจุดเดียวแล้วเลือกว่าจะขอรับความคุ้มครองในประเทศไหน บ้าง ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด”

สำหรับ กระบวนการจดทะเบียนหลังจากรับคำขอ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องกรอกแบบฟอร์ม “MM2” เป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว พร้อมทั้งระบุข้อมูล ประกอบด้วย ชื่อ ที่อยู่ อีเมล์ รายชื่อตัวแทนในกรณีที่ตั้งตัวแทน เลือกประเทศที่ต้องการรับความคุ้มครอง และระบุรายการสินค้า จากนั้นกรมจะส่งคำขอไปองค์การด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อส่งต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ปลายทางที่ผู้ประกอบการต้องยื่นขอรับความคุ้มครอง เบื้องต้นตามมาตรฐานระบบนี้จะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน ค่าใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการจัดเตรียมและจัดส่งคำขอ 2,000 บาท และค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอตามกฎหมายของประเทศปลายทาง

อย่างไรก็ตาม อำนาจในการรับจดหรือไม่รับจดเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้น

นายทศพลกล่าวว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมความพร้อมการรับจดเครื่องหมายการค้าตามระบบพิธีสารมาดริด ไว้ครบทุกด้าน เพราะได้กำหนดแผนเตรียมความพร้อม 5 ด้าน ทั้ง 1) แก้พระราชบัญญัติ เครื่องหมายการค้า และกฎกระทรวง ออกกฎหมายลูกอีก 6-7 ฉบับ เตรียมบังคับใช้ ออกแบบฟอร์มคำขอ 2) ประสานกับ WIPO ในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูทั้งหมด 3) แก้ระบบไอที เพื่อรองรับระบบมาดริด ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับต่างประเทศ 4) แยกกลุ่มงานตรวจสอบมาดริด ออกมาเฉพาะ และ 5) ประชาสัมพันธ์

“กรมเตรียมพร้อมทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านที่ผู้ประกอบการไทยจะยื่นจดในต่างประเทศ และรับคำขอจากต่างประเทศที่ยื่นเข้ามา แต่คิดว่าจำนวนคำขอขาเข้าไม่น่าจะต่างไปจากเดิมมากนัก โดยปกติกรมสามารถให้บริการรับจดเครื่องหมายการค้าไทยใช้เวลาประมาณ 12 เดือนเศษ ซึ่งยังเร็วกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของมาดริดที่กำหนดให้ 18 เดือนนับตั้งแต่ยื่นคำขอ ไทยจึงไม่ห่วงเรื่องปัญหาคำขอจดเครื่องหมายการค้าทะลัก”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การให้บริการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในระบบมาดริด จะช่วยให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยพัฒนาแบรนด์ สร้างมูลค่าให้กับสินค้า เพื่อไปแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีสมาชิกสมาพันธ์ที่มีการสร้างแบรนด์มี 10% หรือประมาณ 3,000 รายจากสมาชิก 30,000 รายทั่วประเทศ

“เดิมเอสเอ็มอีมักมีปัญหามักถูก ละเมิดเครื่องหมายการค้าในช่วงที่นำสินค้าไปจัดแสดงในงานแฟร์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพราะมองว่าขอได้ยาก และต้องใช้เวลานาน ทำให้เกิดปัญหาถูกละเมิดตามมา”

นายแสงชัยกล่าวต่อ ไปว่า สมาพันธ์ฯเตรียมจะประสานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับสมาชิก และในขณะนี้สมาพันธ์กำลังจัดตั้งตัวแทนเครือข่ายผู้ประสานงานเอสเอ็มอีประจำ อำเภอทั่วประเทศด้วย

“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจท้อง ถิ่น หากมีเครือข่ายผู้ประสานงานประจำในแต่ละอำเภอ ก็เหมือนมีรากแก้วที่จะเจาะลึกว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร ซึ่งหากต่อเชื่อมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงไปให้บริการโมบายยูนิต กระจายออกไปในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ และให้บริการรับจดทะเบียน หรือหากสามารถลดระยะเวลาในการจดทะเบียนให้เร็วขึ้นเหลือ 3-6 เดือนจะยิ่งเป็นการส่งเสริมเอสเอ็มอีสร้างแบรนด์ สร้างมูลค่าสินค้าให้มากขึ้น”