จ่อประมูลตั้ง “โรงไฟฟ้าชุมชน” ก.เกษตรฯเตรียมแผนบูม 6 พืชวัตถุดิบ

โรงไฟฟ้าชุมชนแค่อืดไม่ได้ล้ม กกพ.ปิดฟลอร์ประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น พร้อมสรุปหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก่อนประกาศกลางเดือนหน้า มี.ค. ขณะที่เกษตรฯเคาะแผนปลูกไม้โตเร็ว 6 พืช ส่งเสริมนอกเขตชลประทาน พื้นที่ 18 ล้านไร่ เฟสแรกเล็งโละที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสมกว่า 6.11 ล้านไร่ ป้อนโรงชีวมวล

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปิดฟังความคิดเห็นเรื่อง “ร่างระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) และร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ของ กกพ. และทางช่องทางสัมมนาออนไลน์

โดยสรุปเบื้องต้นตามมติ กพช.กำหนดไว้นั้น หลักการมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ได้แก่ พืชพลังงาน ผสมน้ำเสียของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 25 ให้มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1.ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา feed-in tariff (FIT) 4.8482 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FIT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย 2.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกินร้อยละ 25 มี FIT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FIT premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาท/หน่วย

ดังนั้น ระหว่างนี้จึงอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยคาดว่าออกประกาศการยื่นคำเสนอภายในช่วงเดือนมีนาคม แล้วจึงจะสามารถเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย. พร้อมทั้งประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค 30 เม.ย. ส่วนข้อเสนอด้านราคาอยู่ระหว่างสรุปด้วยวิธี competitive bidding นั่นคือ ผู้ยื่นเสนอโครงการเสนอส่วนลดของ FIT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาลำดับต้น ๆ จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ พร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 28 ก.ย. 64 ขณะที่กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 28 ก.ย. 67

“ส่วนใหญ่จะมีข้อเสนอเกี่ยวกับราคา ซึ่งต้องดูความเหมาะสมในช่วงเวลานั้น ๆ และการระบุพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าจะยั่งยืนหรือไม่ ทั้งสายส่งและความพร้อม หากตั้งโรงไฟฟ้าเเล้วจะมีวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้าเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ดี เราก็จะนำข้อเสนอทั้งหมดเร่งทำการสรุปแผนเพื่อให้สามารถออกประกาศได้ภายในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน”

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ยังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ได้นำร่องไปในโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ จ.ประจวบคีรีขันธ์

แนวคิดนี้ถือเป็นแนวคิดที่คุ้มค่าทางสังคม เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตป้อนโรงไฟฟ้า และได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า แต่ทางปฏิบัติจะต้องวางระบบการรับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันแต่ละพืชแต่ละพื้นที่

ขณะที่ทางด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุดการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ครั้งที่ 2/2564 ได้หารือแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยจะใช้หลักการตลาดนำการผลิต โดยนำความต้องการวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของกระทรวงพลังงานมาใช้ คาดการณ์ปริมาณความต้องการและพื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว

เบื้องต้น กลุ่มพื้นที่เป้าหมายที่มีโอกาสในการส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้โตเร็ว ได้แก่ พื้นที่นาดอนนอกเขตชลประทาน จำนวน 18.53 ล้านไร่ และพื้นที่ตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกของรัฐบาล เช่น การปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 6.11 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกพืชชนิดเดิมและให้ผลตอบแทนต่ำ

ทางคณะทำงานจัดทำแนวทางได้เสนอผลการศึกษาไม้โตเร็ว จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ กระถินณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส ไผ่ และหญ้าเนเปียร์ พบว่าไม้เศรษฐกิจโตเร็วหลายชนิดเหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะกระถินยักษ์ที่มีจุดเด่นสำคัญ คือ สามารถปลูกและเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สามารถปลูกและเริ่มตัดใช้ประโยชน์ได้ในปีที่ 3

จากนั้นจะเริ่มแตกหน่อและสามารถตัดใหม่ได้ทุก ๆ 2 ปี โดยโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับประมาณปีละ 15,000 ตัน จึงต้องใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 1,364 ไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่ส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 4,091 ไร่ ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 เมกะวัตต์

ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับปีละ 1,125,000 ตัน ใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 102,300 ไร่ พื้นที่รวม 3 ปี จะต้องใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 306,900 ไร่

สำหรับแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล จะใช้หลักการแบ่งปันต้นทุนและผลตอบแทน (cost and profit sharing) และหลักการระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) เพื่อสร้างหลักประกันและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล และชุมชน สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกรผ่านวิสาหกิจชุมชน

และเป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่กำหนดให้วิสาหกิจชุมชนที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกร่วมถือหุ้นในโรงไฟฟ้าร้อยละ 10 ตามกรอบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดต่อไป