ลุ้น มอก. ตู้แช่วัคซีนแถมบีโอไอเท่าเครื่องมือแพทย์

ตู้แช่วัคซีน

อีก 6 เดือน สมอ.เตรียมออกมาตรฐาน มอก.ตู้แช่วัคซีน หลังถกเอกชน ชี้แนวโน้มดีมานด์โตต่อเนื่อง ศักยภาพการผลิตไม่แพ้ต่างชาติ ดันจัดเข้ากลุ่ม “อุปกรณ์ทางการแพทย์” อัพเกรดได้สิทธิประโยชน์บีโอไอเท่า new S-curve เว้นภาษีนิติบุคคลเพิ่มสูงสุด 8 ปี กระตุ้นตลาดสินค้าตู้แช่ปีละ 400-500 ล้านคึกคัก

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมอ.เตรียมออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้กับตู้แช่วัคซีน หลังจากได้มีการหารือกับทางภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการหารือพบว่าสเป็กของทั้ง 2 ฝ่ายตรงกัน 70-80% ขาดอีก 20-30%

ซึ่งตรงนี้ทางเอกชนจะเป็นผู้กำหนดและนำมาเติมให้ตรงกัน เพื่อนำไปประกาศเป็นมาตรฐาน มอก.ตู้แช่วัคซีนให้ใหม่ ตามกระบวนการ ส.อ.ท. จะใช้เวลากำหนดสเป็ก 2-3 เดือน แล้วส่งให้ สมอ.เพื่อเข้าบอร์ด และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม จากนั้นเสนอ ครม. และประกาศเป็น มอก.ตู้แช่วัคซีน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้คณะกรรมการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ จะเป็นผู้รับรองตู้แช่วัคซีนให้ก่อน เอกชนสามารถขายได้ตามปกติ จนกว่า มอก.ใหม่จะแล้วเสร็จ

“2 ฝ่ายได้นำสเป็กของตู้แช่ที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมาเทียบกับมาตรฐาน มอก. ตู้แช่แสดงสินค้าที่ใช้อยู่ในตอนนี้ว่าตรงกันหรือไม่ เมื่อตรงกันจะส่งผลให้ตู้แช่วัคซีนตาม มอก.ใหม่ กลายเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์จากปัจจุบันเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า นั่นหมายถึงผู้ประกอบการมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เท่าอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (new S-curve) หรืออุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อย่างตอนนี้เรื่องของอุณหภูมิของเรา 2-8 องศาเซลเซียสก็เท่ากับสเป็กของเอกชน เราก็จะไล่สเป็กตัวอื่น ๆ ก็เอามา compare เทียบเคียงกัน”

สำหรับสเป็กตู้แช่เย็นสำหรับเก็บรักษายา วัคซีน เวชภัณฑ์จะยึดตามสเป็กของโรงพยาบาลราชวิถี คือ

1.มีขนาด 24-30 คิว 2 ประตู

2.ควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2.8 องศาเซลเซียส

3.ควบคุมความชื้นต่ำกว่า 55%

4.โครงสร้างภายในและภายนอกเป็นสเตนเลส

5.ติดอุปกรณ์ monitoring ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ควบคุม แจ้งผ่านทาง Line และ eMail

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดของตู้แช่ยามีมูลค่า 400-500 ล้านบาท มีผู้ผลิตจำนวนกว่า 10 ราย ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทยทั้งหมด ราคาประมาณ 45,000 บาท/ตู้

ซึ่งต่ำกว่านำเข้าแบรนด์จากต่างประเทศ ขณะที่คุณภาพของสินค้าเทียบเท่ากับมาตรฐานที่สากลกำหนด แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่มีการบังคับใช้มาตรฐาน มอก.ก็ตาม ซึ่งหลังจากนี้แน่นอนว่าการเข้าไปหารือกับ สมอ.จะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออกของผู้ประกอบการไทย

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ มีแผนจะพัฒนาต่อยอดการผลิตสินค้าตู้เย็นไปเป็นตู้เย็นแช่วัคซีน โดยเฉพาะทางบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งตนเป็นผู้บริหารอยู่นั้น รวมถึงสมาชิกรายอื่น ๆ ได้ลงความเห็นว่า จะเป็นผู้สนับสนุนร่วมมือกันให้กับทางกลุ่มผู้ผลิตตู้แช่วัควีนเดิมที่ผลิตอยู่แล้ว ดีกว่าจะโดดเข้ามาเพื่อแย่งตลาดและแข่งขันกันเอง ผลักดันให้มีการส่งออกเพื่อเพิ่มมูลค่า

รายงานข่าวระบุว่า หากปรับมาตรฐานจากตู้เย็นเป็นตู้แช่วัคซีน ผู้ประกอบการจะได้สิทธิประโยชน์ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ new S-curve ที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง

โดยทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร อากรวัตถุดิบเพื่อวิจัยพัฒนา อากรวัตถุดิบเพื่อส่งออก แต่หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าก็อาจจะได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่า ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 3 ปี เป็นต้น