จาก “ถุงมือยางฉาว” ถึงเวลายกเครื่อง “อคส.”

หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พร้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในประเด็นปล่อยให้เกิดเหตุทุจริต โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเป็นหัวขบวนในการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ซึ่งมีการโอนเงินหลังทำสัญญาไป 2,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด

โดยพาดพิงไปที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐมนตรี กับนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานบอร์ด อคส. นำไปสู่การเปิดทางให้มีการจัดซื้อถุงมือยางไนไตรล์ดังกล่าว

ล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งใช้เวลาประชุมถึง 7 ชั่วโมง กดดันให้นายสุชาติ แสดงสปิริต “ลาออก” จากตำแหน่งประธานบอร์ด โดยกรรมการในบอร์ดไม่ต้องการให้ประเด็นดังกล่าวทำให้กรรมการในบอร์ดคนอื่นเสียชื่อเสียงไปด้วย แต่ท้ายที่สุด “ยังไม่มีผลสรุป” ออกมา

ประธานบอร์ด อคส. แจง

นายสุชาติกล่าวยืนยันว่า การจัดซื้อถุงมือยางไม่ได้เป็นนโยบายของตนเอง ตามที่มีการกล่าวอ้าง การจัดซื้อถุงมือยางนั้นเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติที่ดำเนินการ ซึ่งนโยบายของตนที่ให้กับ อคส.มี 3 ข้อ คือ พัฒนาบุคลากร พัฒนาองค์กร และหารายได้ให้กับองค์กร การจัดซื้อถุงมือยางไม่รู้ว่าเป็นไอเดียของใคร เพราะที่ผ่านมามีหลายคนเสนอไอเดียในการจัดหารายได้ให้องค์กรเยอะมาก โดยใครมีอะไรก็เสนอเข้ามา และตอนนี้คิดอย่างเดียวว่าจะเอาเงิน 2,000 ล้านบาท ที่ อคส.จ่ายไปเป็นค่ามัดจำการจัดซื้อถุงมือยางไปแล้วนั้นกลับคืนมาได้อย่างไร

ขณะที่ พล.ต.ดร.ดิเรก ดีประเสริฐ รองประธานบอร์ด อคส. กล่าวว่า การจัดซื้อถุงมือยางที่เกิดขึ้น บอร์ด อคส.ไม่ทราบเรื่องมาก่อน ทั้งที่เป็นโครงการใหญ่ และมีมูลค่าซื้อขายนับแสนล้านบาท มีการถอนเงินออกจากบัญชีของ อคส. ไปจ่ายเงินมัดจำสินค้าถึง 2,000 ล้านบาท แต่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. ซึ่งดำเนินการในเรื่องนี้ กลับไม่เสนอให้บอร์ดพิจารณา หรือแม้แต่รายงานให้บอร์ดได้รับทราบ ทางบอร์ดเพิ่งทราบเรื่องเมื่อเป็นข่าวแล้ว

“เรื่องเก่ายังสะสางไม่หมด นี่มีเรื่องใหม่มาอีกแล้ว ส่วนจะเป็นยังไงต่อ คงต้องถามประธานบอร์ด เพราะเป็นผู้ถูกพาดพิง”

เดิมพันทางรอด อคส.

อีกด้านหนึ่ง นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ผู้เข้ามารับตำแหน่ง ผอ.อคส. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 หลังเรื่องราวการจัดซื้อผ่านไปแล้วก็ต้องแบกทั้งภาระเรื่องการแก้ปัญหาทุจริต และการสานต่องานสร้างรายได้ให้กับ อคส.

หลังจากรับตำแหน่งครบ 6 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้ จะถูกประเมินผลการทำงานที่ได้เคยแสดงวิสัยทัศน์ว่าดำเนินการได้ตามเป้าหมาย “ซ่อม สร้าง เพิ่ม สะสาง” หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างรายได้ ซึ่งปรากฏว่าจนถึงขณะนี้รายได้เข้ามาไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง อคส.มีแผนจะพลิกจากการขาดทุนปีละ 120-150 ล้านบาทให้เป็นบวกภายใน 3 ปี

รอ ป.ป.ช.สอบถุงมือ

ในส่วนของการสะสางปัญหา อคส. กรณีการจัดซื้อถุงมือยางไนไตรล์ (ถุงมือยางสังเคราะห์) 500 ล้านกล่อง เป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง อคส.ดำเนินการไป 2 ส่วน คือ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนวินัย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. และเจ้าหน้าที่ อคส.ระดับนักบริหาร 8 อีก 2 ราย ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ที่มีพฤติกรรมสร้างความเสียหายให้องค์กร

โดยการนำข้อมูลออกไปเผยแพร่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ หากมีความผิดทางวินัยร้ายแรงก็ตั้งกรรมการพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป และส่วนที่ 2 คือ การส่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งหมดแล้ว เพื่อไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิด ซึ่งจนถึงขณะนี้ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ได้ติดต่อประสานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มแต่อย่างไร

หาก ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิด จะมีขั้นตอนจากนี้คือ จะส่งเรื่องให้ “อัยการ” ฟ้องคดีอาญา ส่วนเงิน 2,000 ล้านบาท ที่มีการอายัดไว้นั้นเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเส้นทางการเงินว่ามีการใช้จ่าย แปลสภาพ หรือโอนไปให้กับบุคคลใดบ้าง เพื่อติดตามนำคืนมาให้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ได้สะสางคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว การผลิตข้าวถุง “คืบหน้า” ไปพอสมควรเช่นกัน

อีกด้านหนึ่ง ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภายในองค์กรเพื่อให้ทำงานได้คล่องตัว รวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่การดำเนินนโยบายหารายได้ให้ อคส. ได้มุ่งรีแบรนด์ข้าวถุง อคส. พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่าย

ในส่วนของคลังสินค้า อคส. ที่ราษฎร์บูรณะ และคลังสินค้าธนบุรี ได้ “ยุติ” โครงการปรับปรุงคลังสินค้าธนบุรี เป็นศูนย์การค้าเอเชียทีค 2 หลังจากประเมินความคุ้มค่าการลงทุน พร้อมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ การแข่งขันแล้ว ได้หันมาปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อให้บริการคลังสินค้าและโลจิสติกส์แทน

อัพรายได้บริการโลจิสติกส์

ล่าสุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ 4 หน่วยงาน คือ สมาคมส่งเสริมการประมง บริษัทกลุ่มผู้ค้าสัตว์น้ำ ปทุมธานี จำกัด ผู้แทนเรือเดินทะเล และผู้ประกอบการรับฝากสินค้าในห้องเย็น เพื่อรองรับการใช้บริการด้านระบบโลจิสติกส์ รวมไปถึงพัฒนาท่าเทียบเรือบริเวณคลังสินค้าราษฎร์บูรณะ ให้เรือสามารถเข้าเทียบท่าได้ และสะดวกในการเข้าเก็บรักษาสินค้า พร้อมกับจะพัฒนาคลังสินค้าที่เป็นห้องเย็นเพื่อรองรับสินค้าที่ต้องการเก็บรักษา แม้แต่การเก็บรักษาวัคซีน ตลอดจนปรับปรุงบริเวณโดยรอบคลัง

สำหรับงบประมาณในการลงทุน อคส.อาจจะต้องแก้ไขปัญหาหลังจากเงินสะสม 2,000 ล้านบาทถูกใช้เป็นค่าถุงมือยางไปแล้วยังไม่ได้คืน