เอสเอ็มอีถามอะไร “เจ้าสัวธนินท์” ในคลับเฮาส์

ในบางช่วงบางตอนของการแลกเปลี่ยนความเห็น ระหว่าง นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้เข้าร่วมให้ความเห็นหัวข้อ SME Clinic ในแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

โดยมีหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางมีผู้เข้าร่วมฟัง 8,000 คน

ได้มีการเปิดไมค์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถถามความเห็นจากเจ้าสัวธนินท์โดยตรง เพื่อขอรับคำแนะนำไอเดียนำธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด

คนแรกคือ ผู้ใช้ชื่อ Joe ProPlugin ผู้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องดนตรีและอุปกรณ์สำหรับทำคอนเท็นต์ ซึ่งมีผู้ติดตามเค้าถึง 184K (184,000 คน) ที่ต้องการขยายต่อยอดธุรกิจ

เจ้าสัวธนินท์ กล่าวชื่นชมว่า ธุรกิจนี้ถือว่ามาได้ถูกทาง จะเจริญรุ่งเรืองแน่นอน เพราะตอนนี้อุปกรณ์เกี่ยวกับการทำคอนเท็นต์กำลังเป็นเทรนด์ของโลก

“ข้อเสนอแนะ ต้องดูสินค้าพระเอกของเราเป็นหลัก ว่ามีปัญหาหรือไม่ เราต้องมีการเงินพอเลี้ยงธุรกิจไว้ ถ้าจะก้าวเร็วแล้วเงินไม่พอ จะต้องควบรวม ผนึกกำลัง จับมือกัน”

“วิธีผมคือธุรกิจหลักต้องรอด มีกำลังไป ถ้าจำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุน มีตัวอย่างที่เค้าทำสำเร็จไหม เพราะ 4.0 เร็วแต่ต้องมีประสิทธิภาพด้วย และหากบางช่วงจำเป็นต้องจำศีลก็ต้องจำศีล เงินไม่พอก็อย่าเพิ่งไปขยายธุรกิจ ผมเคยทำยา เคยทำมอเตอร์ไซค์นั่นไม่ใช่เพราะผมเก่ง แต่เพราะผมหาโอกาสได้”

ขณะที่เอสเอ็มอีรายที่ 2 ใช้ชื่อว่า Mint Sutinee ทำธุรกิจห้องน้ำพกพา ซึ่งดีกรีไม่ธรรมดา เพราะได้รับรางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์มาจากประเทศญี่ปุ่น ขายทางออนไลน์ แพ็กละ 5 ชิ้น ราคาประมาณ 600-700 บาท เธอต้องการคำแนะนำในการทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ธุรกิจเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ นักท่องเที่ยว แต่เมื่อโควิดมา สินค้าห้องน้ำพกพาก็ได้รับผลกระทบ

เจ้าสัวธนินท์ให้คำแนะนำในทันทีเลยว่า

“สินค้านี้มัน “แคบ” จะไปจำกัดกลุ่มเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่ได้ ต้องมองหากลุ่มลูกค้าอื่นด้วย และที่สำคัญสินค้านี้มี “คู่แข่ง” เช่นพวกผ้าอ้อมมีบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลกทำอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เจ้าสัวให้กำลังใจเธอว่าการผลิตสินค้านี้มาถูกทาง เพียงแต่ต้องมองให้ “กว้าง” และต้องพิจารณาว่าสามารถ “ต่อยอด” ธุรกิจได้หรือไม่ และต้องไปดูเรื่องราคาว่าเป็นอย่างไร หากผลิตได้มากขึ้นจะสามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้หรือไม่ อาจต้องอาศัยการโฆษณามาช่วยมากขึ้น

หรือธุรกิจของผู้ใช้ชื่อว่า ArLong ที่ทำทัวร์ ซึ่งตอนนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และเมื่อไปขอความช่วยเหลือจากเงินก็ “ซอฟต์โลน” ก็ได้รับคำตอบว่าบริษัทเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้

เจ้าสัวธนินท์ให้ความสนใจธุรกิจนี้ โดยกล่าวว่า จริง ๆ ธุรกิจนี้เป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยากลงทุน เพราะมีอนาคต แต่เราจะต้องเสริมแบบใหม่เข้าไปด้วย

พร้อมทั้งสอบถามเจ้าของถึงต้นทุนกำไรและค่าใช้จ่ายในการดูแลธุรกิจนี้ ซึ่งทางเจ้าของธุรกิจมีขนาดจิ๋วมีพนักงานเพียง 10 คน เฉลี่ยเงินเดือน แล้วจะมีรายจ่ายประมาณเดือนละ 2 แสน กำไรเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 5 แสน ซึ่งเจ้าสัวให้ความเห็นว่าเจ้าของธุรกิจต้องหาทางเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพราะหลังโควิดมันจะโตแบบเท่าทวีคูณ ทั้งยังให้มุมมองว่ารัฐบาลควรหันมาใส่ใจดูแลธุรกิจนี้ เหมือนรัฐบาลอังกฤษที่ดูแลกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวไม่ปล่อยทิ้ง เพราะมองข้ามวิกฤตไปแล้วธุรกิจนี้จะกลับมามีโอกาสอีกครั้ง