กฟผ. ชงแก้ กม.จัดซื้อฯ เปิดทางนำเข้าLNG

นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำร่อง ปริมาณรวม 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดให้มีการแข่งขันในธุรกิจก๊าซ รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะดำเนินการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซในอนาคต จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวนั้น ขณะนี้ กฟผ.อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดประกวดราคา เนื่องจากการเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้ กฟผ.ไม่สามารถเจรจาซื้อขายก๊าซได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับการเป็นเอกชน ดังนั้นจึงเตรียมที่จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง รวมถึงรายงานต่อกระทรวงพลังงานว่า 1) ให้มีการแก้ไข กฎระเบียบตามที่ระบุอยู่ในพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาค รัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้ กฟผ.สามารถเจรจากับเอกชนที่เป็นผู้ผลิตก๊าซ LNG และ 2) เสนอคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด) เพื่อให้อำนาจผู้ว่าการ กฟผ. ในการเจรจาซื้อขายก๊าซ LNG ได้

ทั้งนี้ กฟผ.วางเป้าหมายว่าจะต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาซื้อขายให้ แล้วเสร็จภายในช่วงปลายปีླྀ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเจรจาซื้อขายก๊าซได้ภายในช่วงต้นปีཹ เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อขายในช่วงฤดูหนาวที่ราคาก๊าซธรรมชาติค่อนข้างแพง เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายนี้ เท่ากับว่า กฟผ.จะนำร่องนำเข้าก๊าซ LNG ลอตแรกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 นี้ เพื่อนำมาป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

“เป็นธุรกิจใหม่ของ กฟผ.ที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขในประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการเจรจาซื้อขายก๊าซรูปแบบ ตลาดจร (Spot) ซึ่งเคสนี้ของ กฟผ.ก็คล้ายกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ การเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะรีบหาวิธีการที่จะทำให้นำเข้าก๊าซได้เร็วขึ้น”

นายถาวรกล่าว เพิ่มเติมว่า เดิมทีมีการนำเสนอให้บริษัทลูกของ กฟผ.เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เป็นผู้นำเข้าได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาตามหลักการของ กพช.ไม่สามารถดำเนินการได้ ฉะนั้นจึงต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวข้างต้น

รายงานข่าว เพิ่มเติมระบุว่า นอกจาก กฟผ.จะได้เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNGที่ 1.5 ล้านตัน/ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ยังได้รับอนุมัติให้ กฟผ.เป็นผู้พัฒนาโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage Regasification Unit) พื้นที่ตอนบนของอ่าวไทย เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ในอนาคต รวม 5 ล้านตัน/ปี เพื่อป้อนก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมถึงการจัดส่งก๊าซเพื่อเข้าสู่ระบบโครงข่ายท่อก๊าซด้วย

อย่างไร ก็ตาม กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมที่จะนำเสนอแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เหลวให้ กพช.พิจารณาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในแผนดังกล่าวจะกำหนดสัดส่วนการนำเข้าก๊าซLNG ทั้งแบบระยะยาว และระยะสั้นไว้อย่างชัดเจน