อคส.เร่งปราบคอร์รัปชั่น ย้ำใครไม่ได้รับความเป็นธรรมคัดค้านได้

ส่งออก
แฟ้มภาพ

อคส. พร้อมพลิกวิกฤตเป็นโอกาสปราบคอร์รัปชั่นตามแนวทางการชี้แจงอภิปรายของ “จุรินทร์” ขณะที่ เจ้าหน้าที่ อคส.ที่เกี่ยวข้องหากไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถคัดค้านได้ ส่วนการสร้างรายได้ อคส. คาดว่าปีนี้อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า หรือ อคส.คนใหม่ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ข่าวนายสุทธินันท์ จิยะอมรเดช นักบริหาร 9 องค์การคลังสินค้า เจ้าของแชทที่แคปบทความสนทนาโผล่ในการอภิปรายของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ได้ไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่าถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่เป็นธรรมนั้น พฤติการณ์ตอบด้วยตัวเองอยู่แล้ว

เรื่องนี้เป็นระเบียบปฏิบัติของทุกหน่วยงานเมื่อมีเหตุเกี่ยวกับวินัย ก็ต้องมีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงหากผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถโต้แย้งคัดค้านคำสั่งตามระเบียบข้อบังคับที่เป็นกลไกให้ความเป็นธรรมขององค์การได้ ไม่ใช่ออกไปร้องทุกข์ต่อบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม บุคคลซึ่งถูกตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นตัวละครหนึ่งในฐานะกรรมการที่นำเงินไปลงทุน และเห็นชอบอนุมัติให้ถอนเงินฝากประจำของ อคส. 2000 ล้านบาท เพื่อเร่งรัดจ่ายให้กับเอกชนให้ทันเวลา ซึ่งเป็นเงื่อนไขของเอกชนจุดนี้จึงเป็นพิรุธอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว

เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต

ทั้งนี้ หากไม่อนุมัติในครั้งนั้น อคส.ก็ไม่ต้องเสียหายอย่างที่ทราบกัน แต่กลับมาเคลื่อนไหวให้เป็นข่าวในช่วงนี้เพื่อร่วมมือกับฝ่ายใดในลักษณะหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้พฤติการณ์ดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อองค์กรและไม่เป็นที่ไว้วางใจ

“เป็นเรื่องที่แปลกอย่างมากทั้งที่ผมในฐานะ ผอ.อคส. คนใหม่เข้ามาแก้ไขพยายามตามเงิน 2,000 ล้านบาทคืน ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช.สามารถอายัดเงินในบัญชีไว้ได้ส่วนหนึ่งแล้ว การดำเนินการก็ต้องรอบคอบและรัดกุมตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ขององค์กร แต่กลับมีการสร้างแรงกดดันทั้งภายในและภายนอกตลอดเวลา”

อย่างไรก็ดี อคส.ให้ความร่วมมือต่อหน่วยงานจากองค์กรอิสระทั้ง ดีเอสไอ ปปง. ป.ป.ช. ที่ทำงานร่วมกันอย่างหนักจนสามารถอายัดบัญชีได้ภายใน 50 วัน นับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และตามแนวทางที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงการอภิปรายคือแน่นอนว่าเมื่อมีหลักฐานก็จะต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด ไม่เพียงเรื่องนี้แต่รวมถึงการสะสางคดีจำนำข้าวด้วย ซึ่งการที่ตนเข้ามาก็พบความพยายามขัดขวาง ข่มขู่ ใส่ร้ายจากหลายคนในองค์กรแทนที่จะร่วมมือกัน

หลังจากนี้ เมื่อทุกฝ่ายทราบเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องทำงานทั้งพัฒนาองค์กร พัฒนาสายธุรกิจเพื่อรายได้ขององค์กร และติดตามสะสางคดีเก่าเพื่อนำเงินขององค์กรกลับคืนมา มีพันธกิจร่วมกันเช่นนี้แล้วก็ต้องเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือด้านที่ดีตามเป้าหมาย ไม่ใช่ต่างรักษาผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ตนแล้วเสียหายต่อส่วนรวม ส่วนความคืบหน้าการสืบสวนทางวินัย ผช.ผอก.ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจะได้แถลงความคืบหน้าและขั้นตอนกระบวนการตามระเบียบให้ทราบในสัปดาห์หน้า

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า อคส.ได้ลงนามบันทึกความตกลง (MOU) กับ 4 กลุ่มผู้ประกอบการ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมการประมง บริษัทกลุ่มผู้ค้าสัตว์น้ำปทุมธานี ผู้แทนเรือเดินทะเล และผู้ประกอบการรับฝากสินค้าในห้องเย็น ในการพัฒนาห้องเย็นรองรับสินค้าประมงและสินค้าเกษตร และพัฒนาท่าเทียบเรือราษฎร์บูรณะ ที่คลังสินค้าราษฎร์บูรณะ เพื่อสร้างรายได้เข้า อคส. และมีผลกำไรภายใน 3 ปี จากปกติที่ขาดทุนเฉลี่ยปีละ 120-150 ล้านบาท ซึ่งต้องพัฒนาปรับปรุงคลังสินค้า ท่าเรือ คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับปรับปรุง 72 ล้านบาท

นอกจากนี้ อคส.ยังมีแผนสร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้ ที่ออกตามฤดูกาลผ่านร้านธงฟ้า โมเดิร์นเทรด ช่องทางออนไลน์ ส่วนการหาตลาดต่างประเทศได้ประสานกรมการค้าต่างประเทศเพื่อส่งออกสินค้าเกษตร

“ปีนี้ อคส. คาดว่ามีรายได้ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขายอาหารในเรือนจำ 600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการขายสินค้าเกษตรและการให้เช่าคลัง ส่วนการลงทุนใหม่ ยอมรับว่า จากการทุจริตถุงมือยาง มีผลต่อการลงทุนใหม่ของ อคส. แต่ก็มีช่องทางให้ อคส. หาเงินจากช่องทางอื่น ๆ มาใช้ได้ เช่น งบประมาณ หรือเงินสะสมของ อคส.ที่เหลืออีกกว่า 1,000 ล้านบาท เพราะเงินสะสมหายไป 2,000 ล้านจากการจัดซื้อถุงมือยาง ซึ่ง อคส.จะตามเงินที่หายไปพร้อมดอกเบี้ยมาคืน อคส.จนครบ”

นายประมวล รักใจ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่า คลังสินค้าราษฎร์บูรณะของ อคส. มีศักยภาพรองรับสินค้าประมงและสินค้าเกษตรได้ โดยถือเป็น 1 ใน 22 ท่าเทียบเรือ ที่เรือสินค้าขนสัตว์น้ำนำเข้าที่ท่าเทียบเรือ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการนำเข้าปลาทูน่าจากต่างประเทศมาขึ้นที่ท่าเทียบเรือของคลังสินค้านี้ 10-12% จากการนำเข้าปลาทูน่าจำนวน 8 แสนตันทั่วประเทศ หากโครงการทำห้องเย็นเสร็จสิ้น ก็จะทำให้ อคส. มีรายได้เพิ่มเติมขึ้นอีก