เปิดตัวดัชนี FBCI วัดความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ พบอยู่ระดับ 29.8 ต่ำกว่าคาด

หอการค้าไทย เปิดตัวดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ครั้งแรกอยู่ในระดับ 29.8 ต่ำกว่าที่มองไว้ โดยผลส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รายได้ กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น ขณะที่ การปรับ ครม. ขอคนที่เป็นมีความสามารถ สานต่องานได้และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้เปิดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) โดยจะสำรวจนักลงทุนต่างชาติ หอการค้าต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยกว่า 40 ประเทศ ซึ่งจะเปิดผลสำรวจในทุกไตรมาสเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการค้า การลงทุนของนักลงทุน นักธุรกิจที่ทำธุรกิจในประเทศไทย พร้อมทั้ง ข้อเสนอ ข้อสนับสนุนที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้นักลงทุนยังเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หอการค้าไทยต้องการให้รัฐบาลพิจารณาบุคคลที่มีความสามารถและสานต่องานได้ในทันที พร้อมทั้งต้องเป็นที่ยอมรับจากทั้งนักธุรกิจ การเมืองและประชาชน อีกทั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจาก ครม. ด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานให้ถูกผลักดันได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ. ยังต้องการให้มีการจัดประชุมโดยเร็ว โดยประเด็นที่ต้องการเสนอและให้มีการหารือ คือ การเปิดเมือง การจ้างงาน การกระจายวัคซีน เป็นต้น

นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจที่หอการค้าดำเนินการนั้นถือว่าครอบคลุมทุกด้าน และสะท้อนปัญหาได้อย่างครบถ้วน ส่วนการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง หรือการประท้วงนั้น สิ่งที่หอต่างประเทศให้ความสนใจคือการบริหารปัญหา การแก้ไขเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าทุกประเทศต่างมีปัญหา แต่การแก้ไขนั้นต้องดูว่าจัดการดูแลอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ต้องการให้เห็น คือ ความรุนแรง ส่วนความเชื่อมั่นหรือเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น คาดว่าน่าจะครึ่งปีหลังของปีนี้

ส่วนผลการสำรวจ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FOREIGN BUSINESS CONFIDENCE INDEX : FBCI) และรายงานผลสำรวจดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทยไตรมาสที่ 4/ 2563 จากจำนวน 40 ประเทศ ซึ่งมีสมาชิกรวม 8,470 สถานประกอบการ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 30 ประเทศ จำนวน 119 ราย ตั้งแต่มกราคม -กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) โดยรวมอยู่ที่ระดับ 29.8 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.6 และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 32.1

โดยเป็นผลมาจากการสำรวจนักธุรกิจต่างชาติลงทุนในประเทศไทย ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.6 ซึ่งส่วนใหญ่นักธุรกิจยังเป็นกังวลต่อเศรษฐกิจไทย กำลังซื้อในประเทศ การลงทุนจากต่างชาติ สถานการณ์การท่องเที่ยว การนำเข้า-ส่งออกทั้งปัจจุบันและอนาคต เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 32.1 ซึ่งสำรวจทั้งเรื่องของราคาสินค้าและบริการ คำสั่งซื้อ ผลกำไร ค่าใช้จ่าย สภาพคล่องของธุรกิจ การจ้างงานและภาระหนี้สินของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ดีขึ้นมีผลต่อความเชื่อมั่น

ดังนั้น สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและช่วยเหลือ คือ มาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ และ SMEs ไทยโดยรวม รวมทั้งธุรกิจที่เป็นคู่ค้า มาตการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การผ่อนคลายการทำธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น การแก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ การเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว การออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านการเมืองและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล การพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วที่สุด เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการสำรวจทัศนะต่อเศรษฐกิจไทยของนักธุรกิจต่างชาติ พบว่า ส่วนใหญ่ 88.24% เศรษฐกิจไทยแย่ลง 86.55% กำลังซื้อแย่ลง 83.19% การลงทุนจากต่างประเทศแย่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ดีขึ้นแต่ไม่มาก และสิ่งที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต้องแก้ไข คือ 26.5% การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ รองลงมา 14.3% การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจเอกชนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง และ13.4% เสถียรภาพด้านการเมือง ทำให้ไม่แน่ใจทิศทางแนวโน้ม เป็นต้น

ส่วนผลสำรวจด้านธุรกิจจากหอการค้าต่างประเทศในปัจจุบัน พบว่า 78.99% รายได้รวมของธุรกิจ แย่ลง 16.81% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 4.20% ดีขึ้น ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการของธุรกิจ 50.42% แย่ลง 47.06% ไม่เปลี่ยนแปลง 2.52% ดีขึ้น ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น พบว่า 31.09% รายได้รวมของธุรกิจ แย่ลง 35.29% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 33.61% ดีขึ้น ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการของธุรกิจ 21.82% แย่ลง 60.50% ไม่เปลี่ยนแปลง 17.65% ดีขึ้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มจากกำลังซื้อหดตัว ยอดขายลดมีผลต่อรายได้ ต้นทุนสูงขึ้น การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาโควิด