ผ่ากลยุทธ์ TU คุยกับซีอีโอ “ธีรพงศ์” ลุยร่วมทุนสตาร์ตอัพ

ธีรพงศ์ จันศิริ
สัมภาษณ์พิเศษ

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง ของ “บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” หรือทียู สามารถทำรายได้ถึง 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 ที่มีรายได้ 1.29 แสนล้านบาท แม้วิกฤตโควิด-19 จะฉุดยอดขาย “อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง” ทำให้สินค้าหลักหดตัวลง แต่ยอดขายอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ตลาดเติบโตมาประคับประคองไว้ได้ ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงาน 7,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103% จากปีก่อน

มาถึงปี 2564 “ทียู” วางแผนต่อยอดขยายการลงทุนอีกครั้ง ทั้งการซื้อและควบรวมกิจการ เป็นการขยับใหญ่ครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะเดียวกันก็วางกลยุทธ์สร้างพันธมิตร เสริมจุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ในกลุ่มใหม่ ปิดจุดอ่อนเรื่องช่องทางการทำตลาด

อัดเงินลงทุนเพิ่ม-เล็ง M&A

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทียู ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทวางเป้าหมายว่ายอดขายจะขยายตัวได้ 5% โดยมีแผนขยายการลงทุนสินทรัพย์ (capital expenditures : CAPEX) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 4,000 ล้านบาท เป็น 6,000-6,500 ล้านบาท เพื่อก่อตั้งและขยายโรงงาน 3 แห่ง คือ โรงงานไฮโดรไลซิสที่ จ.สมุทรสาคร โรงงานผลิตแคลเซียมของบริษัทสงขลาแคนนิ่ง และการลงทุนขยายห้องเย็นในประเทศกานา

“ปีที่แล้วเราชะลอการลงทุนไป แต่ปีนี้จะกลับมาลงทุนให้มากขึ้น สนองนโยบายภาครัฐที่ต้องการเห็นการลงทุนเพิ่ม จึงได้เพิ่มเงินลงทุนคาเปกซ์ และถ้าดูจากปลายปีที่แล้วจะเห็นว่าอัตราส่วนหนี้ต่อทุนลงไปที่ 0.94 ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การเงินเราเข้มแข็ง มีความพร้อมในการลงทุนซื้อและควบรวมกิจการ หรือ M&A ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโต ผมคิดว่าโอกาสในการลงทุนเราจะมีต่อจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า จึงเตรียมความพร้อมไว้”

ผนึกพันธมิตรปิดจุดอ่อน

นายธีรพงศ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าจุดแข็งของทียู คือ การผลิต มีการลงทุนศูนย์นวัตกรรม (GIC) ก็จริง แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องการตลาดอาจไม่ค่อยแข็งแรงเท่าใดนัก แต่จุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์อย่างเดียวไม่พอ ต้อง open innovation ต้องร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมแกร่งด้านต่าง ๆ จะเห็นว่าการลงทุนของเราปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น joint venture มากขึ้น ซึ่งในอนาคตนอกจากทียูมีสินค้าที่แข็งแกร่งแล้ว จะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งด้วย

ล่าสุด ต้นเดือนมกราคม 2564 บจ.ไทยยูเนี่ยน อินกรีเดียนท์ ในเครือทียู ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา หรือ IP ในชื่อ บจ.อินเตอร์ ฟาร์มา-ซีวิต้า โดยทียูถือหุ้นในสัดส่วน 49% IP ถือหุ้น 51% เป็นโมเดลคล้ายกับที่เคยตั้ง บจ.ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด ร่วมกับ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปีก่อน

“เราต้องการอาศัยความเข้มแข็งของอินเตอร์ฟาร์มาซึ่งเข้าใจในตลาดนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่องทางการจำหน่ายของตลาดนี้ คือ โรงพยาบาล ซึ่งเป็นจุดแข็งของอินเตอร์ฟาร์มา ร่วมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของบริษัท โดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งพัฒนาล่าสุด คือ ผงแคลเซียมจากกระดูกปลาทูน่า หรือ UniQTM เข้าสู่ตลาดนี้ เช่นเดียวกับไทยเบฟฯ เป็นผู้นำเรื่องเครื่องดื่ม มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งอยู่แล้ว กำลังร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ช่องทางการตลาดของไทยเบฟฯ โมเดลคล้าย ๆ กัน แต่เป็นสินค้าคนละประเภท”

สะสมลงทุนสตาร์ตอัพ

ในด้านการผลิต นอกจากการขยายโรงงานแล้ว ทียูยังมุ่งมั่นลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทรนด์สตาร์ตอัพในโลกนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามเทรนด์ธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ประกอบกับเงินที่เข้ามาในระบบนี้มาก จึงให้คนสามารถคิดเรื่องใหม่ ๆ ได้มากขึ้น

“สตาร์ตอัพเป็นการลงทุนในธุรกิจอนาคตมาก ๆ ตอนนี้เรียกว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ผมคิดว่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นอีก 1-2 ปีข้างหน้า และเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ฉะนั้น เราจะเน้นการลงทุนหลาย ๆ ที่ ไม่ได้เข้าไปถือสัดส่วนหุ้นเยอะมากในแต่ละบริษัท ทียูจะไม่ลงทุนในบริษัทใดเกิน 3 ล้านเหรียญ หรือ 1% ของกองทุนสตาร์ตอัพที่ตั้งขึ้น 30 ล้านเหรียญ ขณะนี้สะสมไว้ในพอร์ตแล้ว 6 ราย ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1 ใน 3 ของกองทุน”

โดยทียูจะโฟกัสสตาร์ตอัพที่อยู่ในขอบเขตธุรกิจที่สนใจ คือ อินกรีเดียนต์ เมดิคอลฟู้ด อัลเทอร์เนทีฟโปรตีน แต่ก็เปิดกว้างสำหรับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่แค่ใกล้กับธุรกิจเดิมด้วย เพื่อให้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเพื่อให้ได้ข้อมูลมาเสริม GIC ด้วย ล่าสุดที่ลงทุน “บลูนาลู” สตาร์ตอัพในสหรัฐ ผู้พัฒนาโปรตีนทางเลือกชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยง เอาเนื้อเยื่อมาเพาะในถ้วยแก้ว เน้นโปรตีนซีฟู้ด เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างแอดวานซ์จากเดิม

3 หลักการเลือกสตาร์ตอัพ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทียู บอกว่า ทียูมีทีมเฉพาะ CDC corporation 3 คน กลุ่มนี้จะเข้าไปอยู่ในเครือข่ายระดับโลก มีอยู่ในอเมริกา ยุโรป และอิสราเอล เมื่อเชื่อมโยงเครือข่ายระดับโลกแล้วทำให้มีสตาร์ตอัพเข้ามาให้เลือกจำนวนมาก

โดยมีหลักการเลือก คือ 1) คอนเซ็ปต์ของสตาร์ตอัพนั้นน่าสนใจเพียงใด 2) มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 3) ทีมงานมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีมากแค่ไหน เพราะเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจ สิ่งสำคัญคือการลงทุนในสตาร์ตอัพจะต้องมีผู้ร่วมลงทุนด้วยเสมอ และทุกบริษัทที่ลงทุนต้องมีผู้ร่วมลงทุนที่น่าสนใจ น่าเชื่อถือ

“สตาร์ตอัพสนใจเราไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว เพราะเงินเราไม่ได้มีมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่เรามีสิ่งที่ทำให้สามารถร่วมมือกันได้มากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีซัพพลายเชนด้านอาหารที่เข้มแข็ง เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมอาหาร ชอบที่จะมาจอยต์กับเรา”

ดัน TFM เข้าตลาดหุ้น

แม้จะมุ่งลงทุนธุรกิจอนาคต แต่ทียูก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจดั้งเดิม โดยเตรียมนำ บจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ หรือ TFM ผู้ผลิตอาหารสัตว์ กุ้ง ปลา เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปลายปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่ง สำหรับ TFM มีแผนการลงทุนใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งแผนการเติบโตนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาซัพพอร์ตเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้ 5% ด้วย

“เช่นเดียวกับบริษัทชิกเก้นออฟเดอะซี บริษัทลูกในสหรัฐ หลังดำเนินการตามคำสั่งศาลในประเด็นกฎหมายแข่งขันทางการค้าครบถ้วน 100% แล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวลอีกต่อไป สถานะธุรกิจนี้ปีที่แล้วเป็นปีที่ดีที่สุดของชิกเก้นออฟเดอะซี จากดีมานด์ที่ค่อนข้างสตรอง ซึ่งตัวธุรกิจมันไม่ได้มีปัญหา มีแต่เรื่องข้อพิพาททางกฎหมายที่ต้องทำให้จบ ปีนี้ชิกเก้นออฟเดอะซีจะเติบโตในทิศทางเดียวกับภาพรวมของบริษัท”

นี่คือส่วนหนึ่งของการเดินหมากแบบขยับรุกทุกทิศ ต่อยอดธุรกิจสปีดยอดขาย รายได้ สร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กรทียูครบสูตร