โควิดฉุดเงินเฟ้อ ก.พ. 64 ลบ 1.17% ทำสถิติหดตัวต่อเนื่องครบปี

เงินเฟ้อ ก.พ. 2564 ลดลง 1.17% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 การหดตัวในเดือนนี้มีปัจจัยหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เชื่อจากนี้จะดีขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า เงินเฟ้อ ลดลง 1.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี การหดตัวในเดือนนี้มีปัจจัยหลักจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.–มี.ค. 64) ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด ลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

นอกจากนี้ ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคของประชาชน ยกเว้น น้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับราคาสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก เมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้ว ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.04% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มขยายตัวตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป

ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หรือเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง 1.17% เป็นไปตามการลดลงของสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.60% โดยหมวดเคหสถาน ลดลงค่อนข้างมากที่ 4.98% (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ก๊าซหุงต้ม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.22% (เสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.12% (เครื่องถวายพระ ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.04% (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สบู่ถูตัว ผ้าอนามัย)

ขณะที่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.98% จากการปรับสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.03% (สุรา เบียร์) สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.43%

ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 5.93% (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว) ผักสด ลดลง 3.53% (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.34% (นมสด นมถั่วเหลือง นมผง) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.30% (น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม)

ขณะที่กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 1.02% (เนื้อสุกร ปลาหมึกกล้วย ปลาทับทิม) ผลไม้สด สูงขึ้น 0.78% (กล้วยน้ำว้า องุ่น ฝรั่ง) เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.35% (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว) อาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 0.32% และนอกบ้าน สูงขึ้น 0.54% (กับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง อาหารเช้า ไก่ทอด พิซซ่า)

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ลดลง 0.91% (MoM) และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.75% (AoA)

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนมีนาคม 2564 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลของมาตรการดูแล ค่าครองชีพประชาชนด้านสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา) ที่ยังมีผลต่อเนื่องจากเดือนนี้ รวมทั้งราคาข้าวสารที่ยังต่ำกว่าปีก่อน และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิต ในขณะที่ราคาน้ำมันในปีนี้อาจผันผวนบ้างตามสถานการณ์ราคาโลก แต่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี

ทั้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ +1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง