ผลสอบทุจริตถุงมือยางแสนล้าน ฟัน 3 บิ๊ก-ไม่ถึงประธานบอร์ด อคส.

อคส.ประชุม ถุงมือยาง

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท ได้เชิญเจ้าหน้าที่ อคส. 3 ราย คือ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และเจ้าหน้าที่ อคส. ระดับบริหาร 8 อีก 2 ราย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ มารับฟังผลการสืบสวนตั้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดวินัย

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน มีเพียง “นายเกียรติขจร” คนเดียวเท่านั้นที่เข้ามารับฟังข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธ โดยจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันตามสิทธิ ส่วนนายมูรธาธร และ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ แจ้งว่าติดภารกิจไม่สามารถมารับทราบข้อกล่าวหา คณะกรรมการได้จัดส่งเอกสารข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์ ซึ่งทั้ง 2 คน สามารถชี้แจงได้ภายใน 15 วันนับจากวันรับทราบข้อกล่าวหาที่เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษร

ขณะที่ “นายสุชาติ เตชจักรเสมา” ประธานคณะกรรมการ อคส. หนึ่งในผู้ถูกพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม “ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ อคส. จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจ” การสืบสวนของคณะกรรมการชุดนี้จึงเพียงขอให้ “ประธานบอร์ด” จัดทำข้อมูลประกอบส่งให้กับคณะกรรมการ ในส่วนตัวของประธานบอร์ดอาจต้อง “รอ” ผลสรุปในส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับประเด็นข้อกล่าวหากระทำผิดทางวินัยของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ถือเป็นความผิดทางวินัยขั้นร้ายแรงตามระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย

1.ไม่รักษาและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันเกี่ยวกับองค์การ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คู่มือการปฏิบัติงานขององค์การ และมติคณะกรรมการอันเป็นเหตุให้เสียหายอย่างร้ายแรง

2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้

และ 3.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อาศัยตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แสวงหาประโยชน์มิควรได้แก่ตนเองหรือแก่ผู้อื่น หรือช่วยเหลือผู้อื่นในทางที่จะทำให้เสียประโยชน์ขององค์กร

ทั้งนี้ หลังครบ 15 วัน คณะกรรมการพิจารณาเอกสารหลักฐานที่ทั้ง 3 รายส่งกลับมา หากยังไม่สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ก็จะเสนอให้นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผอ.อคส. ตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบทางวินัย” เพื่อลงโทษทางวินัย ซึ่งมีโทษให้ออก และไล่ออก และ “คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ” อีกชุดก็จะพิจารณามูลค่าความเสียหาย จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังยืนยันความเสียหายเพื่อพิจารณาส่งฟ้อง

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่ได้เดินทางมารับฟังข้อกล่าวหาเพราะติดภารกิจ แต่เบื้องต้นได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้วโดยหลังจากได้รับเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาก็จะใช้สิทธิ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันตามสิทธิ

พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์
พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์

“ตนต้องการที่จะรับทราบว่าข้อกล่าวหาที่กล่าวทั้ง 3 ข้อว่ามีความผิดทางวินัยอย่างไร ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ว่านั้นอย่างไร ขัดต่อการปฏิบัติงานอย่างไร อะไรที่ชี้ว่าตนกระทำผิดดังกล่าว มีจุดไหนหรือขั้นตอนไหนที่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายให้กับ อคส.บ้าง ซึ่งหากทำข้อกล่าวหามากี่ข้อก็จะชี้แจงในทุกข้อ โดยได้เตรียมทนายพร้อมจะยื่นอุทธรณ์ เรื่องนี้จะต้องถึงศาลปกครอง ยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือรู้จักเป็นการส่วนตัวกับบริษัทดังกล่าว”

ส่วนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตนเชื่อมั่นว่า ป.ป.ช.เป็นหนึ่งกระบวนการยุติธรรมที่มีหลักเกณฑ์การสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง หาก ป.ป.ช.มีข้อมูลพร้อมที่จะชี้มูลว่าตนกระทำผิดส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้อง ก็พร้อมที่สู้ตามหลักฐานข้อเท็จจริงที่มีซึ่งเอกสารทั้งหมดเป็นชุดเดียวกับที่ยื่นให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง

“หากผลสรุปสุดท้ายว่าผิดก็ต้องยอมรับชะตากรรม เชื่อเรื่องบุญกรรม ยืนยันว่าเจตนาที่กระทำสุจริต หวังให้ อคส.มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการขาดทุน ทั้งยังดำเนินการตามนโยบายสร้างรายได้ให้ อคส. แต่สิ่งที่ห่วงคือ ลูกน้องอีก 2 คน อายุราชการยังไม่มาก มีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ตนก็อายุ 57 ปีแล้ว ย้ำลูกน้องว่าให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงไปเลย”

ด้านนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานบอร์ด อคส. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสาร จัดส่งให้กับทางคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด