พีทีผนึก กฟผ.ตั้ง “สถานีชาร์จ” ปั้นโปรเจ็กต์ใหม่รับ EV ล้านคัน

ปั๊มน้ำมัน พีทีจี (PTG)

กฟผ.ลุยโปรเจ็กต์ใหม่ ผนึกพีทีผุดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรก นำร่อง อ.ปากช่อง พร้อมศึกษาแผนลงทุนวางอนาคตรับดีมานด์รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม 1.2 ล้านคันในปี’79 ดันดีมานด์ไฟฟ้าเพิ่ม 7 หมื่นเมกะวัตต์

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามรายงานแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดย 3 การไฟฟ้าฯ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เคยศึกษาแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้า พบว่าหากส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2579 ตามนโยบายรัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าประมาณ 7 หมื่น
เมกะวัตต์ ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าตามแผนดังกล่าวจะส่งผลดีต่อ กฟผ.ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า

“ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างดำเนินการตามแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย ซึ่งทาง กฟผ.ก็เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฯอื่น ตอนนี้ทุกคนทำได้หมดเลย เทคโนโลยีซื้อมาเหมือนกันหมด กฟผ.มุ่งเน้นไปที่การศึกษาก่อน เพื่อรวบรวมข้อมูลและจะลงทุนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

สำหรับแผนส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดทาง กฟผ.เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ขายปลีกในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ จึงได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการสถานีพีที เปิดตัวจุดสถานีชาร์จแห่งแรกชื่อ EleX by EGAT ทดลองนำร่องที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จากก่อนหน้านี้ทาง กฟผ.ก็ได้ร่วมกับทางบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด นำต้นแบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.มาทดลองให้บริการเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ท่าเรือปากเกร็ด-พระราม 7 และจากพระราม 7-สาทร

นอกจากนี้ มีผู้ผลิตอีกหลายรายที่สนใจมาร่วมลงทุนพัฒนาเรื่องนี้ เช่น บางจาก หรือการพัฒนาร่วมกับทางบ้านจัดสรร รวมถึงการทดลองจัดทำวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยจะทำระบบตู้สำหรับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สำหรับวินที่ด้านหน้า กฟผ.บางกรวยก่อน จากนั้นจะประเมินผลแล้วจึงพัฒนาขยายขอบเขตโครงการออกไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

พร้อมกันนี้ทาง กฟผ.ยังต้องเตรียมในกรณีที่หากมีการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 1 ล้านคัน และมีการชาร์จไฟพร้อมกันจะส่งผลกับระดับการพีกไฟฟ้า หรือความสม่ำเสมอเกี่ยวกับไฟตกดับหรือไม่

“อีกมุมก็ยังต้องประเมินว่าจะมีกำไรจากการชาร์จหรือไม่ เพราะปัจจุบันการลงทุนสถานีชาร์จแห่งหนึ่งต้องใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท แต่หลายรายที่ลงทุนไปแล้วพบว่าแทบจะไม่มีผู้มาใช้บริการ บางจุดมีรถมาชาร์จเพียง 2 คัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะมีการใช้อีวีเพิ่มมากขึ้น”

“หรือหากมีการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นจริง คนส่วนใหญ่ก็คงอยากจะชาร์จไฟที่บ้าน จะไปชาร์จระหว่างทางก็ไปแวะจุดชาร์จใช้เวลานานครึ่งชั่วโมงก็อาจจะไม่นิยม แต่หากในอนาคตมีการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถกักเก็บไฟฟ้าใช้ได้นาน 1,000 กม. ก็อาจจะกระทบต่อสถานีชาร์จที่ลงทุนล่วงหน้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น การพิจารณาลงทุนต้องมีจังหวะที่เหมาะสมด้วย ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงคงจะค่อย ๆ ปรับ มีเวลาปรับตัวไม่ใช่ปรับทันทีเพราะผู้ซื้อรถระบบน้ำมันก็คงยังไม่อยากเปลี่ยนในทันที”