สต็อกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ บีบห้างขายน้ำมันปาล์ม ขวดละไม่เกิน 48 บาท

บีบห้างขายน้ำมันปาล์มไม่เกินขวดละ 48 บาท
แฟ้มภาพ

ตรวจสอบวงจรอุบาทว์กดราคาปาล์มลง กก.ละ 2 บาท ทั้งที่ผลผลิตฤดูใหม่ยังไม่ออก สต๊อกปาล์มน้ำมันดิบเดือน ก.พ.เหลือแค่ 9 หมื่นตัน ต่ำสุดประวัติการณ์ ชี้พิรุธ “โรงไบโอดีเซล B100” กดราคารับซื้อ โรงสกัดรับไม่ไหวต้นทุน 40 บาท/กก. ด้านซัพพลายเออร์รับเคราะห์ถูกบี้ลดค่าธรรมเนียมช่วยโรงกลั่นตรึงราคาปาล์มไม่เกินขวดละ 48 บาท

ปรากฏการณ์ราคาผลปาล์มดิ่งลง กก.ละ 2 บาท จาก 7.60-7.80 เหลือ 5.00-5.20 บาทในวันเดียว สร้างความปั่นป่วนไปทั้งวงการอุตสาหกรรมปาล์ม ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้เป็นรอยต่อปลายฤดูก่อนที่ผลผลิตปาล์มรอบใหม่จะทยอยออdสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม 2564 อุตสาหกรรมต้องดึงสต๊อกปาล์มน้ำมันดิบ (CPO) ที่สต๊อกเหลือน้อยมากออกมาใช้ และควรหนุนให้ราคาปาล์มสูงขึ้น นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่าเกมการกดราคารับซื้อปาล์มครั้งนี้มาจากความผิดปกติในห่วงโซ่การผลิตช่วงใดระหว่างกลางน้ำ โรงสกัด หรือปลายน้ำ โรงกลั่น โรงงานผลิตไบโอดีเซล B100

ชาวสวนโวยปาล์มดิ่งปลายฤดู

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากราคาผลปาล์มลดลงติดต่อกัน 2 วัน เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ชาวสวนรายงานต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ถึงความผิดปกติของราคารับซื้อผลปาล์มที่ลดลงไปเหลือ กก.ละ 5 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศที่ กก.ละ 37.75 บาท ทั้งที่ช่วงเวลาปลายฤดูราคาควรจะสูงไปถึง 7 บาท เพราะผลผลิตปาล์มกำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ขณะที่สต๊อกน้ำมัน CPO ในเดือนกุมภาพันธ์เหลืออยู่ประมาณ 96,000 ตัน ลดลงจากเดือนมกราคมที่มี 1.4 แสนตัน เทียบกับสต๊อกสำรองที่ควรจะมี 2.5 แสนตัน

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าโรงสกัดลดราคารับซื้อจากเกษตรกร น่าจะเป็นผลจากการถูกกดราคารับซื้อ CPO ของผู้ใช้ปลายทางทั้งโรงกลั่น และโรงงานผลิตไบโอดีเซล B100 เพราะหากซื้อผลปาล์ม กก.ละ 7 บาทนั่น เท่ากับว่าจะต้องซื้อน้ำมัน CPO ที่ กก.ละ 39-40 บาท คือ ไม่สามารถรับซื้อตามราคา CPO ที่กรมการค้าภายในระบุ 37.75 บาทได้ หากซื้อไปต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจะสูงกว่าขวด 48 บาท และราคาน้ำมันดีเซลต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น

“เกษตรกรต้องการรัฐเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคา เพราะหากราคาปาล์มปรับสูงขึ้นเกินกว่าราคาประกันรายได้ กก.ละ 4 บาท จะส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณดูแลในโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันปี 2 สามารถช่วยเกษตรกรปาล์มน้ำมัน 3.7 แสนครอบครัว และเมื่อเกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจะสามารถนำเงินไปซื้อปัจจัยการผลิตซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำได้”

ชำแหละใครเดือดร้อนปาล์มแพง

แหล่งข่าวจากวงการปาล์มกล่าวว่า สถานการณ์ราคาผลปาล์ม กก.ละ 7 บาท คิดเป็นราคา CPO กก.ละ 40 บาท แพงกว่าตลาดโลก กระทบต่อผู้ใช้ปลายทางบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค หากซื้อ CPO กก.ละ 39-40 ต้องผลิตน้ำมันขวดราคาสูงถึง 55 บาท กระทรวงไม่คุมราคาปลายทาง เพราะกลัวสินค้าขาดตลาด ผู้ผลิตจะไปขายตามราคาต้นทุนก็ได้ แต่ต้องไปแข่งขันกับน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าวให้ได้ ที่ผ่านมากรมการค้าภายในก็หาวิธีช่วยเหลือทั้งชาวสวน และชาวบ้าน โดยไปตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวดไม่ให้ขึ้นไปถึงขวดละ 55 บาท โดยขอความร่วมมือห้างค้าปลีก เพื่อลดภาระผู้ผลิตให้ยืนราคาให้ได้ ขวดละ 48-49 บาทชั่วคราว แนวทางนี้ชาวสวนยังได้ราคาดี และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน

ส่วนกลุ่มโรงงานไบโอดีเซลคงไม่อยากซื้อ กก.ละ 40-41 บาท ไปผลิต B100 ผสมดีเซล เพราะต้องขายปลีกให้ผู้ใช้น้ำมัน ลิตรละไม่เกิน 27 บาท หากต้นทุนสูงราคาน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลแพงมาก รัฐก็ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยอุดหนุนจ่ายส่วนต่างให้ และเมื่อจ่ายชดเชยแล้วเงินกองทุนลดลง ก็ต้องไปเก็บเงินเข้ากองทุน ซึ่งเป็นการเก็บจากราคาที่ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่าย หรือขั้นแรงที่สุดคือ ถ้าใช้น้ำมัน CPO ไม่ไหวแล้ว ผู้ผลิตต้องหันไปหาพืชอื่นมาผลิตแทน

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ในแต่ละเดือนความต้องการใช้ CPO รวม จะอยู่ที่ 2.2 แสนตัน แบ่งเป็นการใช้เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มบริโภคประมาณ 50,000-60,000 ตัน ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไบโอดีเซลจะอยู่ที่ 100,000-120,000 ตัน โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ 5-8 โรงงาน เช่น จีจีซี บริษัทในกลุ่ม ปตท., บางจาก, พีทีจี และโรงงานน้ำมันพืชปทุม เป็นต้น

โรงสกัดปัดกดราคา

นายกฤษดา ชวนนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยืนยันได้ว่าการซื้อขายปาล์มเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ใช้ปลายทางประเมินว่า ระดับราคาในตลาดสูงเกินไปอาจจะกระทบต้นทุนและยังเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มกำลังจะออกสู่ตลาดก็จะซื้อในปริมาณพอใช้ก่อน นี่เป็นไซเคิลของทุกปี ส่วนปัญหาราคาที่ลดลง กก.ละ 2 บาทนั้น เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ ตอนนี้ระดับราคาตลาดสูงขึ้นแล้ว คือ กก.ละ 5.20 บาท เป็นราคาที่เกษตรกรมีกำไร อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าผลผลิตปีนี้มีความเสี่ยงจากภัยแล้งที่มาเร็ว อาจจะทำให้การเก็บปาล์มช่วงแรก มี.ค.-มิ.ย. ล่าช้าออกไป และฝากความหวังไว้ที่การเก็บปาล์มรอบ 2 ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ซึ่งคาดว่าทิศทางราคาจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินตัวเลขมองว่าปีนี้น่าจะไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนปาล์ม สต๊อก ก.พ.น่าจะเป็นเดือนที่น้อยสุดเป็นเดือนสุดท้าย จากนั้นจะกลับมาสมดุลได้ใน เม.ย. และหากผลผลิตรอบ 2 ของปีดีขึ้น ทำให้ภาพรวมผลผลิตปีนี้เป็นไปตามคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ประเมินว่า ผลผลิตปาล์มจะมีปริมาณ 16.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณ 14-15 ล้านตัน

ทั้งยังคาดการณ์ความต้องการใช้ปี 2564 ในเดือน ม.ค.ลดลงมาก เหลือเพียง 1.74 แสนตัน จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 2.2 แสนตันต่อเดือน และต่ำกว่าปี 2562 ที่เคยใช้ 2.5 แสนตันต่อเดือน โดยเป็นการใช้ผลิตน้ำมันบริโภค 90,000-1 แสนตัน น้ำมันไบโอดีเซล 1.2 แสนตัน ซึ่งนั่นเป็นผลจากโควิดทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามา บริการร้านอาหารปิด การบริโภคน้ำมันปาล์มลดลง ประกอบกับราคาน้ำมัน CPO ปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงซื้อเพียงแค่พอใช้ขับเคลื่อนกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

สั่งห้างตรึงราคา-สินค้าไม่ขาด

อย่างไรก็ตาม ในทันที่เกิดปัญหาราคาร่วง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ จ.กระบี่ กำกับดูแลการซื้อขายผลปาล์มในพื้นที่ และสั่งให้กรมการค้าภายในส่งสายตรวจเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบภาวะการซื้อขาย พร้อมขู่ว่าหากพบพฤติกรรมการกดราคาจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย มาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หากพบดำเนินการตามกฎหมายมีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นั่นจึงทำให้ราคาผลปาล์มดีดกลับมาสูงขึ้นในอีก 2 ต่อวันต่อมา โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ กก.ละ 6 บาท

รายงานกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบไม่ให้มีการกักตุน โดยกลไกพาณิชย์จังหวัดตรวจสอบการรับซื้อและจำหน่ายตามโครงสร้างราคา ขอความร่วมมือตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวดตั้งแต่ ต.ค. 2563 เป็นต้นมา จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในต้นเดือน มี.ค.2564 ขอความร่วมมือห้างค้าปลีกจัดให้มีสินค้าพอเพียง และกำหนดราคาขายปลีกให้สอดคล้องกับต้นทุน รวมทั้งการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มตั้งแต่ 18% ขึ้นไปและห้ามปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มร่วง

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการค้าปลีก โดยได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาน้ำมันปาล์มไว้ที่ 48 บาท/ขวด (1 ลิตร) ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะต้นทุนของผู้ผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 53 บาท หากห้างออร์เดอร์มามากซัพพลายเออร์ก็ไม่ไหว เพราะขาดทุน จึงผลิตส่งให้ในลักษณะประคับประคองสถานการณ์ไปและรอผลผลิตปาล์มที่จะทยอยออกมา ตอนนี้ทำให้หลาย ๆ ห้างหันไปออร์เดอร์น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวไปจำหน่ายเพื่อทดแทนน้ำมันปาล์ม

“การขอความร่วมมือห้างให้ตรึงราคาหรือขายในราคาต่ำ ๆ ตามที่ทางการกำหนด ท้ายที่สุดห้างก็ผลักภาระมาที่ซัพพลายเออร์อยู่ดี ซึ่งจะมาในรูปของค่ารีเบส ค่าเมล์ ค่าดีซี ฯลฯ ซึ่งซัพพลายเออร์ก็เลี่ยงไม่ได้”