กฟก.วางโรดแมปสางบัญชี แฉลูกหนี้เกษตรกรไม่มีรายชื่อโผล่อื้อ

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรวางโรดแมป 180 วัน เร่งสางหนี้เกษตรกร ลุยอัพเดตบัญชีกองทุน
ฟื้นฟูฯ 6.7 หมื่นราย หลังพบปัญหาบัญชี ธ.ก.ส.-กฟก.ไม่ตรงกัน

นายกมล ศักดิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า ล่าสุด จากการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้สิน กฟก. จำนวน 512,994 ราย กับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เบื้องต้นพบว่า เกษตรกรไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ประมาณ 67,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว ประมาณ 3,000 ราย จึงจำเป็นที่จะต้องให้คณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เข้าไปร่วมตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์ นอกจากนี้เกษตรกรรายใดที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับ กฟก.ให้มายืนยันตัวตน กับที่ว่าการอำเภอ และศาลากลางจังหวัด ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและรวดเร็ว หากเกษตรกรที่เคยลงทะเบียนแล้วไม่มาลงทะเบียน อาจได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้า โดยวางกรอบดำเนินงาน 180 วัน

“ต้องยอมรับว่าปัญหาที่ผ่านมาในข้อมูลจำนวน 5 แสนกว่าราย ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อาจจะมีข้อมูลไม่อัพเดตและยังไม่ตรงกันเกษตรกรไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ประมาณ 6.7 หมื่นราย มีเสียชีวิตไปแล้ว ประมาณ 3 พันราย จึงจำเป็นที่จะต้องให้คณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เข้าไปร่วมตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อข้อมูลที่เป็นล่าสุดและสมบูรณ์ถูกต้อง”

ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดทำหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเข้าไปจากหลักเกณฑ์เดิม สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับพิจารณาแก้ไขปัญหาหนี้ ประกอบด้วย 1.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กฟก. 2.เป็นหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเท่านั้น 3.เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นิติบุคคลอื่นที่คณะกรรมการกำหนด และสถาบันเกษตรกร 4.เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีบุคคลค้ำประกัน 5.เป็นหนี้ที่มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ขึ้นไป โดยจัดลำดับความเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือ คือ หนี้ถูกฟ้องล้มละลาย หนี้ถูกบังคับคดี หรือประกาศขายทอดตลาด หนี้ถูกดำเนินคดี หนี้ผิดชำระหนี้ และข้อ 6.ที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1-5 ที่สมควรให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับแรก คือ ผู้ทุพพลภาพ เจ็บป่วย หรือ มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานในวัยแรงงานดูแล


ก่อนหน้านี้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 26/2560 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ให้มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ มีความก้าวหน้าโดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกร กฟก. และมีการสำรวจข้อมูลหนี้จากทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหนี้ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.-24 ส.ค.นี้