ปักหมุด “ปิโตรเคมี” ภาคใต้ บูมเศรษฐกิจหลังโควิดทุบท่องเที่ยว

เกือบ 40 ปีที่แล้วที่ “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ได้รับการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแทนอุตสาหกรรมเบา บนพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) เชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งออกทั่วโลก ด้วยกำลังการผลิตปีละ 32 ล้านตัน

มาถึงวันนี้แม้ว่ามีการขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับ “ติดหล่ม” ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มอบให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษา “โครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4” ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาในอนาคต ซึ่งได้ปักหมุดที่ “ภาคใต้”

เชื่อมโยงปิโตรเคมี-เกษตร

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือ ต้นน้ำที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมาก ดังนั้นจะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมใหม่

ซึ่งโครงการศึกษาครั้งนี้จะต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงปิโตรเลียม และปิโตรเคมีกับการเกษตรเข้าด้วยกัน โดยพบว่ามี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการลงทุน รวมไปถึงวางยุทธศาสตร์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว (กราฟิก)

ปิโตรเคมี

เชื่อมโยงปิโตรเคมี-เกษตร

คุณหญิงทองทิพ รัตนรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้อำนวยการ
สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เผยผลการศึกษาว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 30 ปีนับจากนี้ (2564-2593)

โดยหัวใจสําคัญโครงการ คือ การพัฒนาเชื่อมโยงคลัสเตอร์ โดยมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลักเชื่อมโยงกับการใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตร เช่น ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง มาแปรรูปเป็นเอทานอล แก๊สโซฮอล์ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เมทิลเอสเทอร์ ไบโอดีเซล (B100) การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ (oleochemical) เพราะไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมจึงต้องใช้ต้นทุนทรัพยากรนี้มาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งหลักการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่เพียงจะต้องใช้อุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอนเป็นแกนการพัฒนาประเทศ และอาศัยข้อได้เปรียบการที่ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ มีประตูทางออกหรือท่าเรือฝั่งตะวันตก (west gate) เพื่อเชื่อมโยงสินค้าไทยไปสู่ตลาดเป้าหมาย 
“CLMVT” ถือเป็นความแข็งแกร่ง มีความสำคัญและใกล้บ้านที่สุด และสุดท้าย ต้องวางระบบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพื่อสร้างคุณค่าสำหรับทุกอย่างให้ได้

พื้นที่ยุทธศาสตร์

สิ่งสำคัญจะต้อง “เลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์” ในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ซึ่งได้ปักหมุดไปที่ “ภาคใต้ตอนล่าง” คือ ทุ่งนเรนทร์ต่อเนื่องปะนาเระ จ.ปัตตานี, อ.หาดใหญ่ และ จ.สงขลา เพื่อพัฒนาเป็นย่านธุรกิจพาณิชย์และบริการ จากนั้นจึงจะเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับสร้างท่าเรือตะวันตก (west gate) ซึ่งจะต้อง “ใกล้แหล่งผลิตและตลาด” มีทางเลือก 4 จุด คือ อ.กันตัง จ.ตรัง, ทุ่งหว้า จ.สตูล, ปากบารา จ.สตูล, ตํามะลัง จ.สตูล

“ระดับนโยบายต้องตัดสินใจเร็ว ส่วนระดับปฏิบัติจะต้องคล่องตัว และอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และดูแลระบบนิเวศของทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างทางสังคมคู่กันไป”

ทดแทนรายได้จากการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมนี้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ตามมุมมองของเอกชนนับร้อยรายที่เข้าร่วมให้ความเห็น ได้ชี้ว่า “วิกฤตโควิด” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เข้ามาฉุดรายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของภาคใต้ ดังนั้น ควรมีการปักหมุดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

ผลการศึกษาดังกล่าวมีโอกาสจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภายในปี 2564 นี้ ภาคเอกชนมุ่งหวังว่า รัฐจะเร่ง “ผลักดันผลการศึกษาครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติ” กําหนดให้ “พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

และเตรียมความพร้อม 3 ด้าน ทั้งการเตรียมคน เพื่อให้เข้าใจถึงความจําเป็นและลักษณะของอุตสาหกรรม รวมถึงเหตุที่ต้องเลือกภาคใต้ การเตรียมพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผังเมือง การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) รวมถึงให้สิทธิประโยชน์การลงทุนเทียบเท่ากับ EEC เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้าพิเศษราคาสูง รวมถึงการ “แบ่งปันสิทธิประโยชน์ให้ชุมชนในท้องที่” ด้วย