โปรเจ็กต์โซลาร์เซลล์แม่เมาะสะดุด กฟผ.จี้รัฐทบทวนระเบียบจำกัดใชที่ป่าไม้

ระเบียบการใช้ที่ดินรัฐทำพลังงานทดแทน 500 เมกะวัตต์ของกฟผ.ชะงัก กรมป่าไม้ระบุการเข้าใช้ประโยชน์ได้ 1 กิจการ 1 เจ้าของ ทำโปรเจ็กต์โซลาร์เซลล์พื้นที่เหมืองแม่เมาะค้างเติ่ง เตรียมร้องกรมป่าไม้ทบทวนระเบียบใหม่ ด้านแผนขยายกำลังผลิตอีก 2,000 เมกะวัตต์ จ่อเสนอ ก.พลังงานพิจารณาอีกครั้งภายในเดือนก.ค.นี้

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการ ประจำสำนักผู้ว่าการ และในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการพัฒนาพลังงานทดแทน รวม 500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) ว่า การพัฒนาค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากพื้นที่ที่มีศักยภาพส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน รวมถึงในที่ราชพัสดุ ที่มีระเบียบการเข้าใช้ประโยชน์ระบุว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีเพียง 1 กิจการ และ 1 เจ้าของเท่านั้น อย่างเช่น พื้นที่เหมืองแม่เมาะ ในจังหวัดลำปาง ที่ กฟผ.ยื่นขออนุญาตเพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองและโรงไฟฟ้าแล้ว ในกรณีที่ กฟผ.ต้องการวางแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม จะต้องยื่นขออนุญาตใหม่ โดยเพิ่มวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่เพิ่มเติม ส่งผลให้โครงการดังกล่าวต้องขยับเลื่อนเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจากเดิมในปี 2562 เลื่อนมาเป็นปี 2563 แทน

นอกจากนี้ยังรวมถึงพื้นที่ในเขื่อนต่าง ๆ ของกรมชลประทานที่ กฟผ.ต้องการวางแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำก็ติดปัญหาในการต้องขออนุญาตเพิ่มด้วยเช่นกัน

ดังนั้น กฟผ.จึงเตรียมเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการ “ทบทวน” ระเบียบดังกล่าวใหม่ เพื่อให้ กฟผ.สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้คล่องตัวมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้หารือกรมชลประทานแล้วได้รับความชัดเจนว่า ถ้ามีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว หน่วยงานอื่นก็ไม่สามารถมาใช้ประโยชน์ในที่ดินซ้อนได้ หรือจะเหมาช่วงใช้ที่ดินก็ไม่ได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเยอะ กฟผ.จึงต้องหาวิธีเพื่อทำให้ได้ตามแผน”

นายสหรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพัฒนาพลังงานทดแทนรวม 2,000 เมกะวัตต์ที่ กฟผ.ยื่นรายละเอียดให้กระทรวงพลังงานพิจารณาก่อนหน้านี้นั้น คาดว่าจะนำเสนอกระทรวงพลังงานอีกครั้งภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยกำลังผลิตในส่วนนี้จะนำไปสู่การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมปรับปรุงใหม่ด้วย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กำลังผลิตจากพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อย่างเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ล่าช้าจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยกำลังผลิตในส่วนนี้จะแบ่งเป็น โซลาร์เซลล์ที่ร้อยละ 45 จากชีวมวล ร้อยละ 29.5 ส่วนที่เหลือจะเป็นพลังงานลมร้อยละ 11.5 ขยะมูลฝอยชุมชนร้อยละ 2.5 จากก๊าซชีวภาพร้อยละ 2.8 และจากพลังงานความร้อนใต้พิภพร้อยละ 0.1

“ท่านประธานบอร์ด กฟผ. (นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน) ได้ให้ทิศทางว่าต้องเพิ่มสัดส่วนของ
ไบโอแมสมากขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบเชิงรายได้ไปที่เกษตรกรโดยตรง แต่หากเป็นโซลาร์เซลล์ก็ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติเป็นหลัก เช่น จากประเทศจีน ต้องมองประโยชน์ในมุมนี้ด้วย”


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับการพัฒนาพลังงานทดแทนรวม 500 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.นั้นขณะนี้ได้วางแผนที่จะพัฒนาพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปี (2560-2564) ให้ได้รวม 180 เมกะวัตต์ โดยภายในปี 2560 นี้ จะพัฒนาโครงการให้ได้ 48 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเน้นพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ โซลาร์ฟาร์มบนดิน และผลิตไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน ซึ่งโครงการเหล่านี้ใช้วิธีซื้อที่ดินทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้ทันที