ลุ้น กนศ. ไฟเขียว FTA ไทย-อียู พาณิชย์วางไทม์ไลน์เจรจานัดแรกกลางปี

ส่งออก-เงินบาท

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชง กนศ.ไฟเขียวกรอบเอฟทีเอไทย-อียู เป้าหมายเปิดเจรจานัดแรกกลางปี2564 มั่นใจช่วยดันยอดการค้าไทย-อียูหนุนเศรษฐกิจไทยโต 5% ทะลุ 8 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ได้ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอไทย-อียู) เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกันยายน 2563

โดยได้ชี้ชัดว่าเอฟทีเอไทย-อียูซึ่งครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวม 16 ประเด็น จะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกไปอียูจะปรับตัวสูงขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาท และการนำเข้าสูงขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาท

ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 5% หรือ 8.01 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จากปัจจุบันที่อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ล่าสุดนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างจัดทำกรอบการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู โดยได้หารือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ไทยสามารถเริ่มการเจรจารอบแรกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงกลางปี 2564 นี้

สำหรับรายละเอียดของกรอบเจรจานั้น เป็นกรอบกว้าง ๆ ที่จะนำไปเจรจาหารือในรายละเอียด โดยศึกษาจากแนวทางการเจรจาระหว่างประเทศที่อียูทำข้อตกลงเอฟทีเอและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว

และที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งไทยได้วางกรอบการเจรจาครอบคลุมทั้งประเด็นการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ทั้งยังมีการเจรจาครอบคลุมไปถึง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า เป็นต้น

“การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เกิดขึ้นภายหลังจากเอฟทีเออียูกับประเทศอื่นจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะตกลงที่จะเปิดตลาดหรือตกลงได้มากน้อยแค่ไหน ยังไม่สามารถระบุได้ เป็นรายละเอียดในการเจรจาในแต่ละครั้งจนกว่าจะตกลงและบังคับใช้ร่วมกัน”

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าเอฟทีเอจะทำให้สินค้าส่งออกของไทย มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

จากปัจจุบันที่ภาษีนำเข้ามีมูลค่าสูง ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล ที่จะทำให้นักลงทุนจากอียูเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ซึ่งไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากนัก

ส่วนการเปิดตลาดแล้วผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยที่ต้องเตรียมรับมือ พร้อมกับการปรับตัว โดยเฉพาะในสินค้าน้ำตาล นม แต่ไทยสามารถนำเป็นสินค้าอ่อนไหว หรือขอระยะเวลาในการปรับตัว ก่อนที่จะเปิดตลาดเสรี

ส่วนประเด็นการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ ยังต้องหารืออย่างรอบคอบ