ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง “วัคซีน” กู้เศรษฐกิจโลก ปลุกดีมานด์ปิโตรเคมี

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

การฉีดวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะเป็นความหวังของผู้คนในโลกที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นการปลุกเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นกลับขึ้นมา โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการมาถึงของวัคซีนก็คือ “ปิโตรเคมี” ที่ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 ปี 2563 มาแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ถึงอนาคตการต่อยอดของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยกลยุทธ์ 3 step มุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้ฐานการผลิตเดิม (step change) มองหาโอกาสลงทุนขยายการลงทุนไปต่างประเทศ (step out) และการสร้างโซลูชั่นธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (step up)

ทิศทาง PTTGC

ปีนี้ตลาดหลายธุรกิจเริ่มกลับมา อุตสาหกรรมเคมี-ปิโตรเคมีจัดเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในชีวิตประจำวันแทบทุกอย่าง ถ้าเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ความต้องการใช้ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจจิ้ง อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ จะเริ่มดีมาก

อย่างไรก็ตาม ไซเคิลของอุตสาหกรรมปีนี้อาจยังไม่ใช่ขาขึ้นของปิโตรเคมี หากเทียบกับปี 2017-2018 โดยเฉพาะปี 2018 ที่มีกำไรเกือบ 40,000 ล้านบาท แต่ดีกว่าหากเทียบกับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ยูนีคหนักที่สุดในทุก ๆ อุตสาหกรรม ทั้งโควิด สงครามการค้า น้ำมัน

จุดต่ำสุด Q2-3 โควิดมา โลกหยุดหมุน รายได้เราลดลง 20% แต่ก็ยังเหลือกำไร 10,000 กว่าล้านบาท กำลังการผลิตแทบจะเท่าเดิม แต่เราลดค่าใช้จ่ายได้ 8,000 ล้านบาท บวกกับเพิ่มประสิทธิภาพเป็นพื้นฐานให้ต้นทุนถูก

“ถ้าเศรษฐกิจเท่ากับปีก่อน กำลังผลิตเพิ่มขึ้น 8-10% แน่นอนว่าจะมีเรเวนิวเพิ่ม 30% จากที่มีโรงงานใหม่สร้างเสร็จ คือ 1) โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (PO) ผลิตโฟมสำหรับฉนวน เบาะรถ ฟูก 2) โครงการโพลีออลส์ (Polyols) 3) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโอเลฟินส์ (ORP) ที่โอเปอเรตแล้ว ซึ่งมาช่วยให้ใช้วัตถุดิบยืดหยุ่นขึ้น

ถ้าในอนาคตราคาน้ำมันแพงก็สลับไปใช้แก๊สได้ ความสามารถในการแข่งขันดีกว่าผู้เล่นในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี แต่ถ้ายิ่งเศรษฐกิจโลกดีขึ้นด้วย ก็จะออนท็อปไปอีก เศรษฐกิจโลกดี ความต้องการพลาสติก ปิโตรเคมีดี แน่นอนว่ามาร์จิ้นก็จะดีตาม แทบทุกธุรกิจของเราฟื้นตัว อาจจะมีต้นทุนปรับขึ้นบ้างจากราคาน้ำมัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด”

จุดแข็งของ PTTGC

ข้อดีของพอร์ตโฟลิโอของเราก็คือ มีทั้งด้าน “กว้างและด้านลึก” ตั้งแต่ธุรกิจไบโอ รีไฟเนอรี่ อะโรมาติก โอเลฟินส์ เป็นต้นทางจุดกำเนิดทุกอย่าง ไล่ลงมาถึงผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นโพลิเมอร์ พลาสติก เคมีต่าง ๆ “การอินทิเกรตทำให้กระจายความเสี่ยง” ไซเคิลสินค้านี้ไม่ดี แต่สินค้านี้ดี

PTTGC ยังมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดูแลต้นทุนแข่งขันได้ มีความเข้าใจลูกค้า มีสินค้าหลายอย่างตอบโจทย์ ทั้งโภคภัณฑ์ (คอมโมดิตี้) ที่ซื้อขายด้วยราคาไปถึงสินค้าแบบเพอร์ฟอร์แมนซ์เคมิคอลคุณภาพดีราคาสูง จึงแทบไม่ถูกกระทบจากวิกฤต

อีกอย่างคือ มีปิโตรที่ผลิตเป็น “ไบโอพลาสติก” กำลังเป็นเทรนด์ตอนนี้ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเมื่อ 20 ปีก่อน เราเป็น TOP 10 ของโลกที่มีครบวงจร มีโรงงานเนเจอร์เวิร์กที่สหรัฐ ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก

กลยุทธ์ลงทุนต่อยอดสินค้า

“ตอนนี้ PTTGC มุ่งสินค้าเพอร์ฟอร์แมนซ์เคมิคอลมากขึ้น การแข่งขันน้อย มูลค่าสูงขึ้น ผลตอบแทนการลงทุนสูง แทบจะไม่มีการลงทุนกลุ่มต้นทาง อัพสตรีม โรงกลั่น ถ้าจะลงทุนก็ไม่ใหญ่มาก แต่จะเสริมความคล่องตัวและให้ต้นทุนที่แข่งขันได้”

“โดยรูปแบบการลงทุนมีทั้งการร่วมทุน (JV) กับ 30 บริษัททั่วโลก ช่วยเสริมด้านโนว์ฮาว เทคโนโลยี ช่องทางการขาย R&D และการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ที่สามารถโอเปอเรตได้เลย มีตลาดอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างจากศูนย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่ต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งต้องมองว่า อะไรคือเมกะเทรนด์ในอีก 10 ปี

PTTGC สนใจอยู่ 2-3 ธุรกิจ เช่น สินค้าไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์โพลิเมอร์ ที่เป็นคอมโพสิตโพลิเมอร์ที่ยาก ๆ เช่น เติมคาร์บอน ไฟเบอร์ เบาลง แข็งแรงขึ้น และสินค้ากลุ่มโค้ตติ้ง เพราะอิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ EV กังหันลม ต่างก็ต้องเคลือบหมด ยังมีผู้แข่งขันน้อย

ธุรกิจกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นโกลบอลคอมปะนีหลายราย เราจะไม่เข้าตลาดเรดโอเชี่ยน จากอดีตซื้อของถูก แต่ตอนนี้เราซื้อของดี ช่วงที่ผ่านมาเกิดโควิด-19 เศรษฐกิจไม่ดี เราควรลงทุนช่วงขาลงแบบนี้ ถ้ามีบิสซิเนสเคสดี มีโปรดักต์ที่ดี หรือมี M&A ที่ดี เพราะทำให้ราคาซื้อขายพอคุยกันได้ การจะสร้างอะไรใหม่ ๆ จะถูกกว่า ต้นทุนการเงินถูก

ดังนั้น ถ้ามีอะไรที่ดีควรรีบตัดสินใจอย่างรอบคอบ ต้องรักษาฐานะทางการเงินบริษัท แม้ตอนนี้เรตติ้งดีทุกอย่าง แต่ไม่ควรประมาท การทำธุรกิจจะยึดติดไม่ได้ ทั้งหมดนี้มันอยู่บนความยั่งยืน นี่คือจุดแตกต่างของ PTTGC”

เงินพร้อม M&A

PTTGC รอออกบอนด์ 4 บิลเลียนสหรัฐ ที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้ว ออกได้ก็จะทยอยออก ปีนี้จะมีเรื่อย ๆ และมีครบดีลด้วย บอนด์ที่ออกใหม่ ต้นทุนจะถูกกว่าเดิม ถ้าเรามีการลงทุนใหม่ก็เอามาใช้ แต่ถ้าไม่มีแผนลงทุนชัดเจนก็คงไม่ต้องออกบอนด์ ปีที่แล้วช่วงโควิดมา เราออกบาทบอนด์ไป 15,000 ล้าน ก่อนเมษายน และมีเงินกู้จาก 3 ธนาคารอีกประมาณ 30,000 ล้านบาท

ในอนาคตอาจออกดอลลาร์บอนด์ยาว 10 ปี 30 ปี ตัดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะลงทุนในต่างประเทศ เรามีเงินสดเหมือนที่หลายคนทำ บางคนมองว่าที่เก็บไว้แต่มันก็เสียดอกเบี้ย สถานการณ์ตอนนี้นิ่งกว่าปีที่แล้ว เอาเงินพวกนี้ไปลงทุนดีกว่า เช่น ในไทยเราต้องลงทุนต่อใน EEC อีกหลายหมื่นล้าน กำลังศึกษาเป็นโครงการที่ดี ซึ่งที่ประกาศไปแล้วก็คือ โครงการ OMP โครงการที่ร่วมกับคุราเร่ ญี่ปุ่น ยังต้องต่อและมีอีกหลายโครงการที่ยังศึกษา

ยืน “ต้นน้ำ” ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์

ธุรกิจต้นน้ำไม่ลงทุนอะไรใหม่ แบบใหญ่ ๆ เพราะมีต้นน้ำเยอะอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้แข็งแรง มีความยืดหยุ่นและต้นทุนถูกลง เพื่อเป็นพื้นฐานส่งให้กลางน้ำแข็งแรง ยกเว้นในส่วนของ “โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์” ที่สหรัฐ ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำที่แตกต่างจากจุดอื่น เพราะมีแหล่งเชลแก๊สสามารถผลิต “โพลีเอทิลีน” ได้ถูก และมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งตลาดนอร์ทอีสต์ใหญ่มาก

เรามองว่าโปรเจ็กต์นี้ดี แต่ใช้เงินมากจึงต้องหาคนร่วมทุนแทนเกาหลี ตอนนี้คุยอยู่หลายรายทั่วโลก อาจช้าไปจากเดิมนิดหน่อย แต่กว่าโรงงานจะสร้างก็อีก 4-5 ปี ก็จะไปแมตช์กับความต้องการของสหรัฐที่น่าจะดีขึ้นพอดี

ถ้าสำเร็จจะกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ของ PTTGC ในฐานะที่เป็นบริษัทโกลบอลคอมปะนี จะแสวงหาโอกาสการ M&A หาบ้านหลังที่ 3 หรือ 4 กระจายไปทั่วโลก

อนาคตเติบโตอย่างยั่งยืน

PTTGC เป็นธุรกิจ B to B แต่เริ่มพยายามขยับหาตัว C มากขึ้น ไม่ใช่แค่ customer แต่คือ common people เพราะเคมีใช้กับทุกคนได้ สิ่งสำคัญเรามองถึงความยั่งยืน และการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม แม้ว่าทิศทางการใช้ปิโตรเคมีมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมุ่งสร้างความยั่งยืน

เช่น การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก มุ่งพัฒนาไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่รักษ์โลก ทยอยเลิกผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้เป็น 0 ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ยังคงมีพลาสติกที่หนากว่าปกติสำหรับคนทั่วไป เพราะยังเป็นสินค้าที่ใช้สะดวก ราคาถูก

และที่สำคัญ ต้องมีโซลูชั่นการรีไซเคิล ตั้งแต่เก็บ คัดแยก รีไซเคิล โดยโรงงานรีไซเคิลแห่งใหม่กำลังจะเสร็จในปีนี้ รองรับได้ 6 หมื่นตัน หรือการรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่แปลงสภาพทางเคมี (chemical recycling) ซึ่งจะมีการลงทุนต่อไป สุดท้ายการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานจะสามารถนำกลับมาใช้บรรจุอาหารได้เป็นแห่งแรกในประเทศ ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการ Upcycling นำไปผลิตเส้นใยเสื้อผ้า การผลิตชุด PPE

จนมาถึงบทสรุปสุดท้ายที่ว่า “วัคซีน” คือ ตัวผ่อนคลายสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ในแง่เศรษฐกิจโลกดีขึ้น คนใช้ชีวิตปกติ ถ้าเศรษฐกิจดี ก็ดีไปด้วยกัน PTTGC ก็กระจายความเสี่ยง มีสินค้าด้านกว้างและลึก ผ่านกลยุทธ์ 3 Step เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน