สินค้าเมดอินไทยแลนด์ 800 รายการแข่งประมูลงานรัฐ ศก.สะพัดล้านล้าน

ฉลุย 800 รายการสินค้าขึ้นทะเบียน Made in Thailand แล้ว จ่อเข้าระบบจัดซื้อจัดจ้าง TOR ภาครัฐ เริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา “สุริยะ” คาดเป็นตัวผลักดันให้เกิดการย้ายฐานเข้ามาลงไทย ลุ้นอีก 1 ปีเห็นผล ด้าน “อาคม” มั่นใจเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจ โดยคลังใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเริ่มผลักดันให้โครงการภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ตามนโยบาย Made in Thailand ได้เริ่มอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563 ตามประกาศของกรมบัญชีกลาง

แน่นอนว่าจะช่วยผู้ผลิตในประเทศ และ SMEs อย่างมาก จะเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมหาศาล และลดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้า

และไม่ใช่การกีดกันทางการค้า แต่กลับจะส่งผลให้บริษัทหรือนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเพิ่มขึ้น หลังจากสินค้าที่จะส่งเข้ามาขายในไทยมีสัดส่วนลดลง คาดว่านับจากนี้ต่างชาติจะเริ่มเห็นนโยบายที่ชัดเจนของไทย จะใช้เวลา 1 ปี ก็จะเห็นการลงทุนใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาแทบจะทุกอุตสาหกรรม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริม และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันด้านการตลาดในประเทศได้ ดังนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้อนุมัติกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น

โดยกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 คือ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของพัสดุที่จะใช้ และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด

ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ จะใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 1.77 ล้านล้านบาท หรือกว่า 5 ล้านโครงการ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, จอมอนิเตอร์, เฟอร์นิเจอร์, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์ไฟฟ้าและพลังงาน, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง

อาทิ เหล็ก, ปูนซีเมนต์ ตั้งเป้าปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า ซึ่งขณะนี้ได้ใบรับรอง ไปแล้ว 800 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 1,000 ราย

“หากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ 60% ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้เกิดการหมุนเวียนภายในระบบเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น เพราะสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย MiT จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด”