ตั้ง “กอบชัย” ปลัดกระทรวงอุตฯ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG

กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์

ขานรับนโยบาย BCG โมเดล “สุริยะ” ตั้ง “กอบชัย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ผลักดัน การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สู่ภาคอุตสาหกรรม ล็อก 4 เป้าหมาย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดอีก 6 ปี เพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหา สำคัญระดับโลกที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม

กระทรวงฯ จึงได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถ ในการแข่งขันกับลดของเสีย โดยจัดการทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการนำกลับมาใช้ใหม่

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเกิดประสิทธิผล กระทรวงฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green  Economy : BCG Model) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการ

โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2.สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ ทรัพยากร และพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม

3.สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายตลาด และนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4.ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ดำเนินการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างการดำเนินการจัดการซากรถยนต์ การนำร่องโครงการพัฒนาสถานประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG

ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และ SMEs ที่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯในอนาคต

รวมทั้งได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการในการพัฒนาทางด้าน Bio Economy Circular Economy และ Green Economy ของสถานประกอบการผ่านทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินการโครงการสำคัญๆ ที่ตอบสนองนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาล อาทิ การประกาศรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแก่ผู้ประกอบการ

จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน, จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี, การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ, การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา, การจัดทำมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ การออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 21 เรื่อง,

ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและ ขยะอิเล็กทรอนิกส์, ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน, โครงการนำร่องโซล่าเซลล์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อสนับสนุนนโยบาย BCG ของรัฐบาล และการยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

ทั้งนี้ “BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตที่จะครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์ คือ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

คาดการณ์ว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 4 สาขา ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในอีก 6 ปี ข้างหน้า